หากจะพูดถึงนักว่ายน้ำสาวไทยในช่วงยุค 90 มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จ แต่มีอยู่ 1 คนที่เส้นทางนักว่ายน้ำทีมชาติต้องต่อสู้กับ โจเซลิน โยว ยอดเงือกสาวชาวสิงคโปร์ ทุกครั้งที่ลงแข่งขัน แน่นอนครับวันนี้ "ไอดอลว่ายน้ำไทยคนไหนถูกใจคุณ" ขอนำเสนอ "เงือกเล็ก" ระวี อินทพรอุดม นักว่ายน้ำสาวไทยจอมแกร่งคว้าเหรียญทองมากที่สุดของเงือกไทย
ในวันที่ทีมว่ายน้ำไทยมีชื่อเสียงในระดับซีเกมส์เป็นที่หวาดหวั่นของทุกชาติที่เข้าร่วมแข่งขัน แต่ก็ยังมีอีก 1 เรื่องที่ทีมสระไทยยังไม่อาจทำได้สำเร็จก็คือ "ไม่มีเงือกสาวคนไหนที่จะก้าวไปเป็นแชมป์ฟรีสไตล์" ตั้งแต่ที่ รัชนีวรรณ บูลกุล อำลาวงการว่ายน้ำไป แต่สุดท้ายก็ค้นเจอเงือกสาวที่จะมารับช่วงต่อ เธอคนนั้นคือ "ระวี อินทพรอุดม"
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
ระวี เกิดในครอบครัวที่มีพี่น้อง 3 คน และเธอคือน้องคนสุดท้องเลยได้ชื่อว่า "เล็ก" ในวัยเด็กบ้านนี้จะทำกิจกรรมอะไรก็ตามต้องไปพร้อมกัน 3 คน ในเรื่องการว่ายน้ำก็เช่นกันเนื่องจากคนเป็นพ่อเคยมีประสบการณ์เกือบจมน้ำในวัยเด็ก จึงไม่แปลกที่จะต้องให้บรรดาลูกๆทั้ง 3 คนหัดว่ายน้ำให้เป็นเพื่อที่จะไม่เสี่ยงต่อการจมน้ำ ระวี อินทพรอุดม เล่าให้ฟังว่า พอพี่ชายคนโตอายุ 7 ขวบ ก็เริ่มหัดว่ายน้ำกันทุกคน ทำให้ตอนนั้นตัวของเล็กเองเพิ่งจะอายุได้ 3 ขวบครึ่ง ตอนนั้นครูสอนว่ายน้ำไม่ยอมสอนเพราะยังเด็กเกินไป แต่สุดท้ายทางสโมสร YWCA ที่มี อ.วิทยา ดีมาก เป็นคนสอน
หลังจากนั้นก็ว่ายน้ำเรื่อยมาทั้งการมาฝึกกับทีมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนกับ อ.ศักดิ์ชัย สุริยวงศ์ แต่มีอีก 1 เรื่องที่เจ้าตัวจำได้อย่างแม่นยำนั้นคือการเข้าเรียน ป.1 ในตอนแรกจะไปเข้าที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ซึ่งเป็นที่เดียวกับพี่สาวคนกลาง ทว่าด้วยเดือนเกิดในปีการศึกษานั้นของ "เงือกเล็ก" ยังต่ำกว่าเกณฑ์เพียงไม่กี่เดือน ซึ่งถ้ารอไปอีก 1 ปีการศึกษาก็อาจจะเสียเวลา จนในที่สุดได้มาเข้า ป.1 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ โดยตอนแรกทางโรงเรียนก็ยังไม่รับ แต่เพราะว่าเด็กหญิงระวีในตอนนั้นเป็นนักว่ายน้ำที่พอมีฝีมือ ทางโรงเรียนจึงยากที่จะปฏิเสธและได้รับเธอเข้ามาเรียนและมี อ.วรรณะ สง่าอรีย์กุล เป็นผู้ฝึกสอน
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
สุดท้ายด้วยความสามารถที่เกินไวทำให้เธอติดทีมชาติชุดใหญ่ไปลุยศึกซีเกมส์ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ ใน พ.ศ.2536 ซึ่งตอนนั้นมีอายุเพียง 12 ขวบเท่านั้น และการมีธงไตรรงค์ติดอกครั้งแรกก็สร้างผลงานไว้อย่างยอดเยี่ยมชนิดที่ว่าเกินความเป็นดาวรุ่งก็คือการคว้า 2 เหรียญทองในรายการฟรีสไตล์ 400 ม. ทำเวลาได้ 4:25.55 น. กับ ฟรีสไตล์ 800 ม. ทำเวลาได้ 9:05.15 น. สร้างปรากฏการณ์วันเดอร์คิดอันสุดแสนมหัศจรรย์ให้แก่วงการสระไทย
จากนั้นด้วยกระแสอันร้อนแรงของเด็กน้อยระวีเป็นที่กล่าวขานในหมู่วงการว่ายน้ำไทยจนได้รับทุนจาก บริษัท บุญรอดบริวเวอร์รี่จำกัด ให้ไปฝึกซ้อมที่ประเทศออสเตรเลียในระดับไฮสคูล และยังได้ไปฝึกกับโค้ชที่ชื่อ Denis Cotterell ซึ่งเป็นโค้ชที่ฝึกสอน Grand Hackett กับ Sun Yang และ ใน พ.ศ.2537 ได้ไปลุยเอเชียนเกมส์ที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น นับว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งแรกของเธอในระดับทวีป
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
ในวันที่ "เงือกเล็ก" ระวี อินทพรอุดม โด่งดังในไทยเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของนักว่ายน้ำหญิงท่าฟรีสไตล์ อีกด้านที่กำลังตีคู่กันก็คือ โจเซลิน โยว เงือกสาวสิงคโปร์ ที่กำลังห้าวหาญระดับอาเซียนเหมือนกันและทั้งคู่ยังอยู่ในรุ่นเดียวกัน เมื่อพ.ศ.2538 ซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่เชียงใหม่ ทั้ง ระวี กับ โจเซลิน โยว ได้มาประชันกันในการว่ายฟรีสไตล์และเป็นทางเงือกลอดช่องที่ทำผลงานดีกว่า โดยในครั้งนั้นรายการเดี่ยวของ ระวี ได้มาเพียงเหรียญทองเดียวจากฟรีสไตล์ 800 ม. ทำเวลาได้ 9:04.32 น.นอกนั้นเป็น 2 เหรียญเงินจากฟรีสไตล์ 200 ม. กับ 400 ม. ขณะที่ทีมผลัด ระวี ก็มีส่วนช่วยในการคว้า 2 เหรียญทองทั้ง ผลัดฟรีสไตล์ 4x100 ม. กับ ผลัดผสม 4x100 ม.
เกมระดับโอลิมปิกคือมหกรรมที่นักกีฬาทุกคนใฝ่ฝันว่าสักวันจะต้องไปที่ตรงนั้น และด้วยความสามารถบวกกับสถิติฟรีสไตล์ ระยะ 200 ม., 400 ม. และ 800 ม. ของ ระวี อินทพรอุดม ที่ในเวลานั้นอายุ 16 ปีก็ได้ไปแข่งถึงแม้ว่าผลงานโอลิมปิก 1996 ที่แอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา จะอยู่ในระดับกลางตารางแต่เวลาที่ว่ายออกมาทั้ง 3 รายการคือการทำลายสถิติประเทศไทยทั้งหมด
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
พ.ศ.2540 ซึ่งตรงกับซีเกมส์ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย และก็เหมือนเดิมการปะหน้ากันของ ระวี อินทพรอุดม กับ โจเซลิน โยว ในท่าฟรีสไตล์ยังคงเป็นไฮไลต์ของทุกคน แต่นักว่ายน้ำสาวสิงคโปร์เลือกที่จะหนี "เงือกเล็ก" ไม่ลงว่ายฟรีสไตล์ระยะยาว ทำให้ฟรีสไตล์ระยะ 200 ม., 400 ม. และ 800 ม. ระวี กวาดเรียบ 3 เหรียญทอง และยังมีเดี่ยวผสม 400 ม.กับผลัดฟรีสไตล์ 4x200 ม.ก็คว้าแชมป์ได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมี 2 เหรียญเงิน จากเดี่ยวผสม 200 ม. กับ ผลัดผสม 4x100 ม. และ 2 เหรียญทองแดง ฟรีสไตล์ 100 ม. กับ ผลัดฟรีสไตล์ 4x100ม.
วันเวลาผ่านไปจนมาถึงเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ.2541 ที่ไทย "เงือกเล็ก" สามารถทำผลงานได้เกินมาตราฐานของตัวเองแต่ก็ยังไม่มีเหรียญรางวัล จนในปี พ.ศ.2542 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ระวี อินทพรอุดม เมื่อมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ 1. เรียนต่อที่ออสเตรเลียแล้วเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติไทย กับ 2.กับมาเรียนต่อที่ไทยและอำลาสระว่ายน้ำ
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
ซึ่งความคิดนี้ได้เข้ามาในหัวของ ระวี จนไม่อาจเรียกฟอร์มเก่งกลับมาได้ทำให้ในซีเกมส์ครั้งที่ 20 ที่บรูไน ทำได้เพียง 2 เหรียญทองในการว่ายผลัดส่วนเดี่ยวผสม 200 ม.ได้เหรียญทองแดง อย่างไรก็ตาม "เงือกเล็ก" ก็เลือกที่จะยุติการเป็นนักกีฬาทีมชาติแล้วเดินทางกลับไปเพื่อเข้าศึกษาระดับป.ตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แต่ด้วยการที่ต้องการทุนเพื่อศึกษาต่อทางมหาวิทยาลัยก็เลยเสนอว่าถ้าเป็นนักกีฬาทีมชาติก็จะมีทุนให้เรียน
นี่ก็คือข้อตกลงที่ทางมหาวิทยาลัยหยิบยื่นมาให้กับ "เงือกเล็ก" มันเหมือนกับการเติมเชื้อเพลิงในวันที่เธอกำลังหมดไฟและยังได้ อ.เยิ่น ซุน เซิน เป็นผู้ฝึกสอน จึงทำให้ ระวี ได้กลับมาทบทวนตัวเองและลองดูสถิติของตัวเองก็สามารถว่ายได้เหรียญทองในศึกซีเกมส์ ทำให้เธอหวนคืนสระติดธงชาติไทยอีกครั้งในรอบ 2 ปี ก็ตรงกับซีเกมส์ครั้งที่ 21 ที่มาเลเซียพอดิบพอดี
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
ซีเกมส์แดนเสือเหลือง ระวี ตั้งใจที่จะให้เป็นแมตช์รีไรท์ของตัวเองในนามทีมชาติและต้องทำให้สมเกียรติกับสมัยที่ 5 ของตัวเอง ซึ่งเธอก็จัดการกวาด 5 เหรียญทองไล่ตั้งแต่ ฟรีสไตล์ 400 ม., ฟรีสไตล์ 800 ม., ผลัดฟรีสไตล์ 4x100 กับ 200 ม.และ ผลัดผสม 4x100 ม. แล้วจากนั้น ระวี อินทพรอุดม ก็ปิดฉากการเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติไทยอย่างแท้จริง ด้วยการทำสถิติซีเกมส์ 5 สมัย, เอเชียนเกมส์ 2 สมัย และ โอลิมปิกเกมส์ 1 สมัย
ตลอดระยะเวลาการรับใช้ทีมชาติไทย "เงือกเล็ก" ระวี อินทพรอุดม คว้าได้ 17 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง มากที่สุดของนักว่ายน้ำหญิงไทย จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเงือกสาวรายไหนทำลายสถิตินี้ได้ และเธอก็ยังเป็นตำนานตราบจนทุกวันนี้ก็ยังมีเรื่องเล่ามากมายข้างขอบสระเสมอมา
นี่ก็คือเรื่องราว "เงือกเล็ก" ระวี อินทพรอุดม ที่เก่งจนถึงขั้นที่ว่า โจเซลิน โยว ไม่กล้าปะมือด้วยผู้เป็นตำนาน 17 ทองซีเกมส์ แล้วสำหรับ "ไอดอลว่ายน้ำไทยคนไหนถูกใจคุณ" คนต่อไปเป็นใครโปรดติดตามตอนต่อไป
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
ประวัติ
ชื่อ- ระวี อินทพรอุดม
ชื่อเล่น -เล็ก
เกิด- 14 ส.ค.2523
เกียรติประวัติ
โอลิมปิกเกมส์ 1 สมัย
เอเชียนเกมส์ 2 สมัย
ซีเกมส์ 5 สมัย
โล่พระราชทานเยาวชนดีเด่นด้านกีฬาปี 2536
รางวัลดาวรุ่งของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ปี 2536
นักกีฬายุวชนยอดเยี่ยมของการกีฬาแห่งประเทศไทยปี 2537
นักกีฬายุวชนยอดเยี่ยมของผู้สื่อข่าวกีฬา ปี 2537
นักกีฬาเยาวชนยอดเยี่ยมของผู้สื่อข่าวกีฬา ปี 2537
รางวัลเกียรติยศนักกีฬาไทย (ว่ายน้ำ) ของช่างภาพกีฬาปี 2537
นักกีฬาเยาวชนยอดเยี่ยมของผู้สื่อข่าวกีฬา ปี 2539
ถ้วยพระราชทานเยาวชนดีเด่นของการกีฬาแห่งประเทศไทย ปี 2540
นักกีฬาว่ายน้ำยอดเยี่ยมในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 19 ปี 2540
นักกีฬายอดเยี่ยมหญิงจากการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ 5 ครั้งที่เข้าร่วมแข่งขัน ปี 2535-2539
"เงือกเล็ก" ตำนานนักว่ายน้ำสาวผู้คว้า 17 ทองซีเกมส์
ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว แวดวงกีฬา เทรนใหม่ๆ ได้ที่ forgetmenotromances.com
|