โรคติดบุหรี่ กับ วิธีเลิกบุหรี่ที่อยากแนะนำ
S! Health (Rewrite)
สนับสนุนเนื้อหา
หลายต่อหลายคนคิดว่า บุหรี่ คือ เพื่อนที่ซื่อสัตย์ในเวลาที่เราเครียด เหงา เศร้า หรือ กลุ้มใจ เวลาสนุกก็คิดถึงบุหรี่ เข้าสังคมก็บุหรี่ ก่อนอาหาร หลังอาหารก็บุหรี่ เข้าห้องน้ำต้องสูบบุหรี่ จนกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งจริงๆ แล้วพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นพฤติกรรมการติดบุหรี่ หรือ โรคติดบุหรี่
รู้กันอยู่แล้วว่า บุหรี่เต็มไปด้วย สารนิโคติน ที่หากร่างกายได้รับนานๆ จะส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆ รวมทั้งควันบุหรี่ยังทำร้ายคนรอบข้างได้อย่าง ร้ายกาจ หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง องค์การอนามัยโลก เผยข้อมูลว่า ในควันบุหรี่ 1 ม้วน มีสารเคมีมากกว่า 4000 ชนิด เป็นสารพิษ 250 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็งกว่า 50 ชนิด การสูบบุหรี่ยิ่งสูบนานเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยที่บั่นทอนชีวิตให้สั้นลง โดยบุหรี่ทำให้อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 13.2 ปีในผู้ชาย และ 14.5 ปีในผู้หญิง นอกจากนี้ ข้อมูลสำรวจโรคสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2560 ยังพบว่า กรุงเทพมหานคร ปี 2559 มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1 ล้านคน มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ ประมาณ 6,000 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการเสียเงินในการซื้อบุหรี่มาสูบ ประมาณ 1,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยต่อครั้ง 130,000 บาท ความชุกชั่วชีวิตของภาวะการติดบุหรี่ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 14.9 ในปี 2557
บุหรี่นำพาโรคอะไรมาบ้าง?
ในแต่ละปี บุหรี่ได้คร่าชีวิตประชากรทั่วโลก ปีละประมาณ 6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมากกว่า 6 แสนคน เสียชีวิตจากการสูดดมควันบุหรี่ ซึ่งบุหรี่นำมาสู่โรคอันตรายต่างๆ เช่น
โรคหัวใจ
มะเร็งปอด
มะเร็งในช่องปาก
มีผลต่อหลอดเลือด
โรคความดันโลหิตสูง
มีผลต่อเด็กทารกในครรภ์ ทำให้มารดาตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดบุตรเสียชีวิต
ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง
เป็นต้น
หากอยากเลิกบุหรี่ทำอย่างไร?
การติดบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ บริการช่วยเลิกบุหรี่โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ เป็นหนึ่งช่องทางในการเลิกบุหรี่ หลายคนเข้าไม่ถึงบริการในการช่วยเลิกบุหรี่ จึงเลือกวิธีการเลิกแบบหักดิบ ซึ่งมีอัตราความสำเร็จต่ำและมีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ ผู้ที่มีภาวะถอนบุหรี่ คือ ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่หรือลดปริมาณการสูบบุหรี่ทันที จะมีอาการที่ตามมาด้วยอย่างน้อย 4 อาการ เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อาทิ หงุดหงิด เครียด โมโห อาการวิตกกังวล สมาธิไม่ดี มีความอยากอาหารเพิ่ม กระสับกระส่าย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ดังนั้นการได้รับการรักษาจากแพทย์ เป็นทางเลือกที่สามารถเลิกบุหรี่ได้โดยแท้จริง
โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะประเมินความประสงค์และความพร้อมในการเลิกบุหรี่ ประเมินความรุนแรงของการติดบุหรี่ ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้สูบบุหรี่ รวมถึงจะได้รับการช่วยเหลือและบำบัดรักษา อย่างเหมาะสม และจะมีการนัดติดตามอาการและผลการเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพทำให้อัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
สารนิโคตินทดแทน ซึ่งจะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ให้ลดลง และลดอาการถอนนิโคติน ในประเทศไทยมียาในรูปแบบหมากฝรั่งและแบบแผ่นติดผิวหนัง
ยากลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน ได้แก่ nortriptyline buproprion SR varenicline ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้ และทำให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับทานประมาณ 8-12 สัปดาห์
กรณีที่ผู้ติดบุหรี่ได้พยายามเลิกบุหรี่แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จอาจรู้สึกท้อแท้ได้ เนื่องจากธรรมชาติของโรคติดบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ ขอเพียงแต่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ในกรณีดังกล่าวการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพทางสาธารณสุข เพื่อรับคำแนะนำหรือรับยาจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้น
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า
|