รอยฟกช้ำ ! สาเหตุคืออะไร อันตรายหรือไม่ ?
เคยสังเกตตามร่างกายของตนเองบ้างหรือไม่ ว่าจู่ๆ ก็เกิด รอยฟกช้ำ ดำเขียวขึ้นมา เป็นจ้ำแดงๆ บ้าง เขียวๆ บ้าง หรือสีออกม่วงคล้ำก็มี บางทีก็กดเจ็บ บางทีก็ไม่รู้สึกอะไรเลย และบางครั้งก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าไปกระแทกอะไรมา Tonkit360 มีคำตอบ ว่ารอยช้ำนี้มาจากไหน แล้ว… อันตรายหรือเปล่า?
รอยช้ำ เป็นอาการบาดเจ็บที่ผิวหนังอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นจากการที่มีเส้นเลือดฝอยจำนวนมากแตก จนมีเลือดสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ใน 1-2 ชั่วโมงจะค่อยๆ สลายแล้วมาคั่งรวมกัน ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง มีผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นรอยจ้ำช้ำสีคล้ำ ซึ่งเลือดคั่งนี้จะถูกดูดซึมและหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ รอยช้ำ สามารถเกิดขึ้นเป็นปกติและค่อนข้างพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม รอยช้ำก็มีทั้งแบบไม่อันตรายหายได้เอง และแบบที่ควรไปพบแพทย์
เส้นเลือดฝอยคืออะไร?
ก่อนอื่น เราต้องรู้จักเส้นเลือดฝอยกันก่อน เนื่องจากรอยช้ำนี้มีที่มาจากเส้นเลือดฝอยเป็นหลัก โดยเส้นเลือดฝอย คือ หลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมากแตกแขนงออกจากเส้นเลือดใหญ่ จึงสามารถโยงใยไปตามส่วนต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย หน้าที่ของเส้นเลือดฝอยจะทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนกับแก๊สคาร์บอนได้ออกไซด์ รวมถึงสารอาหารและของเสียต่างๆ ระหว่างเลือดกับเนื้อเยื่อหรือเซลล์อวัยวะในร่างกาย
อย่างไรก็ตามเส้นเลือดฝอยนั้นมีผนังที่บางมากๆ จึงเป็นทางเข้าออกในการแลกเปลี่ยนแก๊สและสารอาหารต่างๆ ได้ดี แต่เพราะมันบางมากนี่เอง จึงทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ง่ายมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าในบางครั้งที่เราเดินชนโต๊ะเพียงเบาๆ ไม่ได้รู้สึกเจ็บตอนชน แต่กลับมีรอยช้ำขึ้นมาได้
สาเหตุของการเกิด รอยฟกช้ำ
ส่วนมากแล้ว หากอวัยวะในร่างกายเราไปกระแทกกับอะไรเข้า รอยช้ำก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สำหรับบางคนที่ไม่ได้ไปกระแทกอะไรมา หรืออวัยวะนั้นอยู่ในส่วนที่ไม่มีทางจะไปกระแทกกับอะไรให้เกิดรอยช้ำได้ แต่ก็ปรากฏรอยช้ำขึ้นมานั้นเกิดขึ้นจากอะไร
การเกิดรอยช้ำ อาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
มีการกระแทกอย่างแรง รู้ตัวว่ากระแทก เช่น เดินชนโต๊ะ ตกบันได การเจาะเลือด ทำให้เส้นเลือดฝอยได้รับบาดเจ็บ
มีการกระแทกกระเทือนเบาๆ ในลักษณะที่เราไม่รู้ตัวเลยจริงๆ กรณีนี้พบได้มากในผู้หญิง เนื่องจากผิวหนังของผู้หญิงจะบางกว่าผู้ชาย เมื่อมีการกระแทกเพียงแค่เล็กน้อยเส้นเลือดฝอยก็อาจแตกได้
การขาดหรือได้รับสารอาหารอาหารบางอย่างที่ไม่สมดุล อย่างวิตามินซี และวิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญสำหรับเส้นเลือด ซึ่งจะทำให้ผนังเส้นเลือดฝอยที่บางอยู่แล้วบางลงไปอีก
การใช้ยาบางชนิดที่มีผลให้เกล็ดเลือดจับตัวกันได้ไม่ดี จนทำให้เส้นเลือดฝอยแตก เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นๆ รวมไปถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อย่างยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้
อายุที่มากขึ้น ในคนที่มีอายุมากขึ้น ไขมันใต้ผิวหนังจะน้อยลงจนเหลือแต่ผิวหนังที่บอบบาง (สาเหตุที่ผิวหนังเ***่ยวย่น) เมื่อโดนกระแทกหรือถูกบีบรัดแค่เพียงเล็กน้อย ก็จะไปกระเทือนกับเส้นเลือดฝอยได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาวที่ผิวหนังหนากว่า
ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง สามารถพบรอยช้ำจ้ำเลือดได้ในคนที่กินยาคุมบางชนิดเป็นประจำ
การป่วยเป็นโรคเลือดบางอย่างที่ทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำ (เกล็ดเลือดช่วยให้เลือดแข็งตัว) ส่งผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติไปด้วย ทำให้มีเลือดซึมไม่หยุดหรือหยุดช้า เลยเกิดอาการเลือดคั่ง
การป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ตับวาย มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเดงกี่ ที่ทำให้เป็นโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีรอยจ้ำเลือดอยู่ทั่วร่างกาย
การออกกำลังกายอย่างหนักหรือการใช้แรงมากเกินไป อาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังฉีกขาดได้
ในระยะแรกของการเกิดรอยช้ำ รอยช้ำจะมีสีแดง พอระยะเวลาผ่านไปจะเริ่มกลายเป็นสีม่วงน้ำเงิน เป็นเพราะหลอดเลือดบริเวณนั้นสูญเสียออกซิเจน (เส้นเลือดฝอยแตก ออกซิเจนลำเลียงไปไม่ได้) ยิ่งรอยช้ำมีสีเข้มมากเท่าไร แสดงว่าเส้นเลือดฝอยที่บาดเจ็บนั้นอยู่ลึก ซึ่งอาจเข้มจนเป็นสีดำได้
เมื่อผ่านไปประมาณ 4-5 วัน รอยช้ำจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวและสีเหลือง ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เส้นเลือดกำลังซ่อมแซมตัวเอง จนรอยช้ำหายไปในที่สุด ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความลึกของเส้นเลือดที่บาดเจ็บและอาการบาดเจ็บ จึงเป็นรอยช้ำที่หายได้เอง ไม่มีอันตรายใดๆ
รอยช้ำแบบใดที่อันตราย ควรไปพบแพทย์
ถ้าผ่านไป 2 สัปดาห์แล้ว รอยช้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะหาย นานกว่านั้นก็ยังไม่หาย เริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ มีรอยนูนบวม เจ็บปวด ปัสสาวะอุจจาระมีเลือดปน มีเลือดออกในดวงตา เลือดออกปาก จมูก ตามไรฟัน มีรอยช้ำแต่ผิวหนังมีสีซีด หรือเป็นรอยช้ำที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด รอยช้ำนั้นอาจไม่ใช่รอยช้ำธรรมดา แต่อาจจะเกิดจากการที่มีเส้นเอ็นพลิก กระดูกหัก มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด/ระบบไหลเวียนเลือด หรือเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
การปฐมพยาบาลหากเป็นรอยช้ำจากการกระแทก
รอยช้ำที่เกิดจากการกระแทกที่ไม่ได้รุนแรงมากนั้นไม่อันตราย สามารถหายได้เอง ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใดๆ และสามารถปฐมพยาบาลและรักษาได้เบื้องต้น
รอยช้ำใหม่ๆ ประคบเย็นประมาณ 10 นาที ถ้าใช้น้ำแข็งให้ห่อด้วยผ้า ไม่ควรให้ผิวสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง
หากเป็นรอยช้ำที่ขาส่วนล่างหรือเท้าพยายามยกขาให้สูงไว้
หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 2 วัน สามารถประคบร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่ช้ำ และช่วยให้ผิวหนังดูดซึมเลือดได้เร็วขึ้น
หากมีอาการปวด ให้ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล แต่หลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือยาไอบูโพรเฟน
วิธีปฐมพยาบาลแผลฟกช้ำดำเขียวที่ถูกต้อง
ใน 48 ชั่วโมงแรก (ไม่เกิน 2 วัน) แผลฟกช้ำเป็นสีแดงอมม่วง ควรประคบแผลฟกช้ำด้วยน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที
หากเป็นแผลฟกช้ำที่บริเวณศีรษะ หรือใบหน้า ควรเลือกประคบด้วยน้ำแข็ง หรืออาจใช้ผ้าม้วนให้หนาพอ กดบริเวณที่ฟกช้ำ เพื่อลดบวม
หลัง 48 ชั่วโมง แผลฟกช้ำจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว ควรประคบด้วยน้ำร้อน หรือของที่มีความร้อน เช่น ถุงร้อน ไข่ต้ม วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที จนกว่าอาการบวมค่อยๆ ลดลง
เมื่อแผลใกล้จะหายแล้ว อาการบวมจะหายไป เหลือสีแผลเป็นสีน้ำตาลจางๆ กดแล้วจะไม่ค่อยเจ็บเหมือนช่วงแรกๆ โดยระยะเวลาที่ร่างกายรักษาแผลฟกช้ำจนหายเป็นปกติจะอยู่ราวๆ 10-14 วัน
สรุป
หากเลย 14 วันแล้วแผลฟกช้ำยังไม่ดีขึ้น หรือฟกช้ำมากจนมีเลือดค้างอยู่ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เพื่อเอาเลือดที่คั่งอยู่ออกมา ก่อนที่จะเป็นอันตรายในระยะยาวฃฃ
แหล่งที่มา
https://www.sanook.com/health/
https://mydeedees.com/%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%9f%e0%b8%81%e0%b8%8a%e0%b9%89%e0%b8%b3-%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%95%e0%b8%b8%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3/
|