รู้ไว้ใช่ว่า! วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดนพิษ ไซยาไนด์
ไซยาไนด์ (Cyanide) สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง อยู่ในหลายรูปแบบทั้งของแข็งและของเหลว มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก, ไฟไหม้บ้าน หรือไฟไหม้รถ, การเผาวัสดุที่มีคาร์บอนและไนโตรเจน เช่น พลาสติก เมลานีนเรซิน ไนล่อน ไหม ขนสัตว์ และยางสังเคราะห์ สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร และสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในพืชบางชนิด อย่างแอปเปิล, อาหารดิบ เช่น มันสำปะหลัง, บิทเทอร์ อัลมอนด์ (Bitter Almond) ส่วน sweet almond ที่นิยมกินไม่มีสารไซยาไนด์ ตลอดจนเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
ไซยาไนด์
คือ สารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบ สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงมาก
ลักษณะไซยาไนด์
ไฮโดรเจนไซยาไนด์ถ้าเป็นของเหลว จะเป็นของเหลวใส ระเหยเป็นแก๊สได้ง่าย ที่อุณหภูมิห้อง มีกลิ่นเฉพาะตัวเรียกว่ากลิ่นอัลมอนด์ขม (Bitter almond) เมื่อกลายเป็นแก๊ส จะเป็น แก๊สไม่มีสี มีกลิ่นอัลมอนด์ขมเช่นกัน สำหรับโซเดียมไซยาไนด์และโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นของแข็ง มีลักษณะเป็นเกร็ดสีขาว มีกลิ่นอัลมอนด์ขมอ่อน ๆ
อันตรายของไซยาไนด์
ไซยาไนด์ สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากหลายเส้นทาง ทั้งการสูดก๊าซไซยาไนด์เข้าไป การกินไซยาไนด์ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสารไซยาไนด์ หากกินไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่างจะใช้เวลาออกฤทธิ์เป็นหน่วยนาที แต่ถ้ามีอาหารอยู่เต็มกระเพาะแล้ว จะหน่วงเวลาเสียชีวิตเป็นหน่วยชั่วโมงแทน เพราะในกระเพาะเรามีกรดที่ใช้ในการย่อยอาหารอยู่ การกินเกลือไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่าง ไซยาไนด์จะทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะ เป็นก๊าซไซยาไนด์อยู่ในกระเพาะอาหารและออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าสูดไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วินาที
แพทย์หญิงณัฐกานต์ มยุระสาคร อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “พิษไซยาไนด์ เป็นสารพิษร้ายแรงทำให้เสียชีวิตภายในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมง ถ้าสามารถวินิจฉัยได้ สามารถช่วยชีวิตได้ทันเนื่องจากมียาแก้พิษ (Antidote) โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถรับพิษได้ทั้งจากการหายใจ และดูดซึมทางผิวหนัง เยื่อบุ และทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว อาการเกิดภายในวินาทีหากได้รับทางการหายใจ ส่วนการกินหรือทางผิวหนังมีอาการหลังสัมผัสเป็นนาทีถึงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง
พิษของไซยาไนด์จะเข้าไปยับยั้งการใช้พลังงานจากออกซิเจนของเซลล์ในร่างกาย จึงมีอาการคล้ายภาวะขาดออกซิเจนของอวัยวะต่างๆ การเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดสารพิษทำให้เลือดเป็นกรด อวัยวะเช่นสมองจะได้รับผลกระทบ ระบบหัวใจการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่ได้รับพิษของไซยาไนด์ โดยส่วนใหญ่อาการเริ่มจาก
ใจสั่น กระวนกระวาย
สับสน ปวดศีรษะ
ซึมหรือชัก
ความดันโลหิตสูงต่อมาหัวใจเต้นช้าและความดันตก
การหายใจช่วงแรกจะเร็วแล้วช้าลงจนหยุดหายใจ
ดังนั้น ผู้ที่ได้รับพิษจึงควรถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
ผู้ได้รับสารพิษไซยาไนด์จะมีลักษณะพิเศษ คือ ผิวแดง (cherry-red) เพราะออกซิเจนในหลอดเลือดดำสูง หรือ ผิวม่วงคล้ำได้ ลมหายใจกลิ่นอัลมอนด์หากเกิดพิษจากการสูดดมสาร hydrogen cyanide กรณีที่ท่านรู้ตัวว่าสัมผัสไซยาไนด์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ พบผู้ที่ได้รับพิษไซยาไนด์ สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ดังนี้
หากเกิดจากการสัมผัส รีบถอดชุดที่เปื้อนสารออก หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็วที่สุด
หากเกิดจากการสัมผัสทางผิวหนัง ให้ล้างบริเวณสัมผัสด้วยน้ำและสบู่ โดยผู้ช่วยเหลือต้องสวมชุดและหน้ากากเพื่อป้องกันตนเอง
หากสัมผัสทางดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างน้อย 10 นาที
“ห้ามใช้วิธีเป่าปาก” ควรทำ CPR แทน เพื่อป้องกันผู้ช่วยเหลือได้รับพิษ
ห้ามล้วงคออาเจียน เนื่องจากไซยาไนด์ดูดซึมอย่างรวดเร็ว
รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด
การปฐมพยาบาล เมื่อได้รับสารไซยาไนด์
กรณีสารเคมีรั่วไหล นำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเท ถอดเสื้อผ้าออก ล้างตัวด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุด ถ้าเข้าตาให้ทำการล้างตาด้วย สังเกตสัญญาณชีพ ใส่ท่อช่วยหายใจถ้าไม่หายใจ ให้ออกซิเจนเสริม
การรักษาระยะเฉียบพลัน ทำการล้างตัว (decontamination) ทั้งที่จุดเกิดเหตุและที่โรงพยาบาล ช่วยการหายใจ ให้ออกซิเจน
การสูดดมสาร amyl nitrile ยังไม่ชัดเจนว่าสามารถช่วยต้านพิษของ ไซยาไนด์ได้หรือไม่ เนื่องจาก การสูดดมเมื่อ amyl nitrile เข้าสู่ร่างกายจะจับกับ Hemoglobin (เช่นเดียวกับ Sodium nitrile) กลายเป็น methemoglobin แล้วจะแย่งจับกับ Cyanide ในกระแสเลือดเป็น Cyanomethemoglobin และเมื่อได้รับ Sodium thiosulfate จึงจะช่วยขับ Cyanide ออกจากร่างกายได้ แต่ตัว Methemoglobin เองก็เป็นพิษต่อร่างกายเช่นกัน
แพทย์หญิงณัฐกานต์ กล่าวต่อว่า “การแก้พิษไซยาไนด์ แพทย์จะให้ยา thiosulfate ร่างกายจะเปลี่ยนไซยาไนด์เป็น thiocyanate ซึ่งไม่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะได้ หรือให้สาร hydrocobalamine ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนเป็น cyanocobalamine ขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน และบางส่วนขับออกทางการหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะ การช่วยคนถูกพิษไซยาไนด์จึงห้ามช่วยหายใจแบบ mouth-to-mouth เพราะอาจได้รับพิษด้วย
สรุป
ทั้งนี้ ผลของการได้รับพิษจากไซยาไนด์ หากรอดชีวิตจากพิษไซยาไนด์อาจมีผลต่อเนื่อง มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน เนื่องจากสมองส่วน basal ganglion ถูกทำลายถาวร” แพทย์หญิงณัฐกานต์ ทิ้งท้าย
ถ้าไปพบคนกำลังแย่เพราะไซยาไนด์อยู่ตรงหน้า ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเป็นการกินเข้าไปก็ต้องส่งเข้าโรงพยาบาลล้างท้องเร็วที่สุด ถ้าเป็นก๊าซไซยาไนด์ ก็ต้องพาออกไปให้พ้นจากบริเวณที่มีก๊าซให้เร็วที่สุด ถ้าเสื้อผ้าหรือผิวหนังเปื้อนสารไซยาไนด์ก็ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด ที่สำคัญคือคนช่วยต้องระวังตัวมาก ๆ อย่าสูดลมหายใจของผู้ป่วยเข้าไปเป็นอันขาด แล้วเรียกรถพยาบาลมาด้วย
แหล่งที่มา
https://www.sanook.com/
https://mydeedees.com/%e0%b9%84%e0%b8%8b%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b9%84%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b9%8c-%e0%b8%9b%e0%b8%90%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%a2-%e0%b8%b2%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a5/
|