ผู้หญิงช่วงโตเต็มวัยกับปัญหา ส่วนสูง ยังสูงได้อีกหรือไม่??
ผู้หญิงหยุดสูงตอนอายุเท่าไร เช็กว่าเราเกินวัยที่ยังสูงได้อีกไหม หรือจะมีวิธีเพิ่ม ส่วนสูง ให้ตัวเองได้อีกสักนิดหรือเปล่า
ส่วนสูง เป็นส่วนหนึ่งของรูปร่าง และแม้การเป็นผู้หญิงที่ไม่สูงมากจะดูตัวเล็กตะมุตะมิ แต่หลาย ๆ คนก็อยากมีความสูงโปร่งเหมือนนางแบบบ้าง จนเป็นคำถามว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงหยุดสูงตอนอายุเท่าไร ช่วงวัยไหนที่เพิ่มความสูงไปไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งวันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ มาตอบให้หายข้องใจตรงนี้เลย
ผู้หญิงหยุดสูงตอนอายุเท่าไร
โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงวัย 10-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าวัยแรกรุ่น (Puberty) โดยอาจสูงเพิ่มขึ้นได้ 7-10 เซนติเมตรต่อปี และจะสูงแซงหน้าผู้ชายไปก่อนด้วย แต่เมื่อเข้าสู่วัยแตกสาว เริ่มมีประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศจะส่งผลให้ความสูงของผู้หญิงค่อย ๆ ดรอปลง และจะหยุดสูงเมื่อเริ่มเป็นสาวเต็มตัว คือราว ๆ อายุ 14-16 ปี
สัญญาณหยุดสูงของผู้หญิง สังเกตจากอะไร
สัญญาณหยุดสูงของผู้หญิงสามารถสังเกตได้จากภาวะแตกเนื้อสาวเลยค่ะ เช่น นมเริ่มตั้งเต้า เอวคอด สะโพกผาย มีขนรักแร้–อวัยวะเพศ รวมไปถึงการมีประจำเดือน ทั้งนี้ความสูงของแต่ละคนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งกรรมพันธุ์ โภชนาการ การออกกำลังกาย เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อความสูง
โภชนาการ : เด็กที่ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ จะมีการเจริญเติบโตที่ดี ต่างจากเด็กที่ขาดสารอาหาร หรือมีความบกพร่องทาง
โภชนาการ กลุ่มนี้มักจะมีรูปร่างแคระแกร็น
ฮอร์โมน : การมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือโกรทฮอร์โมนต่ำ ก็ส่งผลต่อส่วนสูงของร่างกายได้เช่นกัน
ยาบางชนิด : เช่น ยาต้านการอักเสบ (corticosteroids) ซึ่งอาจพบในยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืด ก็อาจส่งผลต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตได้
โรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังบางโรค : เช่น โรคไต โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคมะเร็ง ที่เป็นตั้งแต่วัยเด็กและส่ง
ผลต่อการเจริญเติบโต ส่วนสูง ตามวัยได้
โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม : เช่น กลุ่มอาการนูแนน (Noonan syndrome) ที่ส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางด้านร่างกาย การทำงานของหัวใจและสมองผิดปกติ หรือกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) ที่มักพบในเพศหญิง จากความผิดปกติของโครโมโซม x จนทำให้มีรูปร่างที่เตี้ยผิดปกติ มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน และร่างกายไม่สามารถเข้าสู่วัยประจำเดือนได้ อีกทั้งยังจะมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เช่น ตาเหล่ หนังตาตก มองเห็นภาพไม่ชัด มีความผิดปกติทางการได้ยิน เป็นต้น
วิธีเพิ่ม ส่วนสูง ให้ร่างกาย ในช่วงที่ยังสูงอีกได้
ในช่วงของการเจริญเติบโต สาว ๆ สามารถเพิ่มความสูงให้ตัวเองได้ ดังนี้
รับประทานอาหารให้ครบหลักโภชนาการ 5 หมู่ โดยเฉพาะในส่วนของแคลเซียม นม อาหารที่มีโปรตีนสูง โฮลเกรน ผัก–ผลไม้ กลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินดี เป็นต้น และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยในวัยรุ่นควรพักผ่อนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาอย่างเต็มที่
ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความสูง เช่น บาสเกตบอล กระโดดเชือก โหนบาร์ ว่ายน้ำ โยคะ ปั่นจักรยาน วิดพื้น ซิตอัพ หรือกระโดดแทมโพลีน เป็นต้น
ตรวจสุขภาพประจำปี เผื่อพบความผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทัน
15 วิธีออกกำลังกายเพิ่มส่วนสูง + ช่วยลดน้ำหนัก ตัดปัญหาอ้วนเตี้ยม้วนเดียวจบ !
ในช่วงวัยกำลังกินกำลังนอน อาจทำให้เราดูตัวตัน ๆ และดูไม่สูงอย่างที่หวังไว้ ซึ่งหากอยากเพิ่มความสูงพร้อมกับลดน้ำหนักไปด้วย ขอบอกว่าเรามีวิธีออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มความสูงและลดน้ำหนักให้คุณได้ และสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งกับวัยรุ่นหรือแม้แต่วัยที่หยุดสูงแล้วเลยล่ะค่ะ
โดยต้องบอกก่อนว่าการที่เราอ้วนขึ้น มีน้ำหนักส่วนเกิน ความตัวบวม ๆ นั้น อาจทำให้เราดูตันและเตี้ยโดยอัตโนมัติ อีกทั้งการมีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือเรียกง่าย ๆ ว่าอ้วน อาจเป็นผลให้กระดูกสันหลังช่วงบั้นเอวยืดขยายได้ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย ซึ่งด้วยเหตุผลนี้เลยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการลดน้ำหนักและเพิ่มส่วนสูงขึ้นมาค่ะ
งานวิจัยที่ว่าเป็นของทีมประสาทศัลยแพทย์ ประเทศอิสราเอล นำโดย Dr.Zvi Lidar ที่ได้ทำการศึกษาไว้เมื่อปี 2012 โดยเขานำกลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนมาทำการทดลองด้วยการให้ลดน้ำหนัก และจากผลการศึกษาก็พบว่า การที่อาสาสมัครลดน้ำหนักได้มีส่วนช่วยเพิ่มความสูงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ หลังจากที่ลดน้ำหนักสำเร็จ ทีมประสาทศัลยแพทย์พบว่าหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวระหว่างชิ้นที่ 4 และชิ้นที่ 5 ของกลุ่มทดลองที่ลดน้ำหนักได้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 มิลลิเมตร
ดังนั้นการลดน้ำหนักก็มีส่วนช่วยเพิ่มความสูงได้จริง ๆ นะคะ ทว่าหากต้องการออกกำลังกายเพิ่มความสูงและลดน้ำหนักไปพร้อมกันด้วย กระปุกดอทคอมขอแนะนำเป็นวิธีออกกำลังกายที่เน้นการใช้ข้อ การยืดเหยียด หรือการเคลื่อนไหวข้อต่อและกระดูกเป็นสำคัญ ดังวิธีออกกำลังกายต่อไปนี้
1. กระโดดเชือก เพิ่มความสูง
การกระโดดเชือกช่วยเพิ่มความสูงให้เราได้จริง ๆ ค่ะ เพราะสรีระของเราขณะกระโดดเชือกจะได้เหยียดตรงทั้งในส่วนกล้ามเนื้อช่วงหลัง กลางลำตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อขาก็จะยืดขยาย แต่ทั้งนี้ก็มีทริคในการกระโดดเชือกเพิ่มความสูงนิดหน่อย โดยให้เราเหยียดร่างกายให้ตรงที่สุดในขณะที่กระโดดเชือก และควรกระโดดเชือกทุกวัน อย่างน้อย 15-20 นาทีต่อวัน ก็จะช่วยเพิ่มความสูงให้เราได้ 2-3 นิ้วโดยประมาณ
นอกจากนี้การกระโดดเชือกยังจัดเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเผาผลาญแคลอรีได้มากถึง 1,300 กิโลแคลอรีต่อการกระโดดเชือก 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว ดังนั้นได้ทั้งลดความอ้วน ได้ทั้งเพิ่มความสูงเพราะการกระโดดเชือกอย่างไม่ต้องสงสัย
2. โหนบาร์
การโหนบาร์เป็นวิธีออกกำลังกายที่เล่นกับแรงโน้มถ่วงของโลกโดยตรง จึงช่วยให้กระดูกสันหลังและข้อต่อยืดได้ดีขึ้น อีกทั้งการโหนบาร์ยังช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ แขน หัวไหล่ และขาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หากต้องการเบิร์นแคลอรีมากขึ้น แนะนำให้เล่นท่าด้วยการโหนบาร์พร้อมกับงอเข่า ดึงข้อเพื่อยกลำตัวขึ้นให้สูงเท่าที่จะทำได้ จากนั้นทิ้งตัวดิ่งตรงเหมือนเดิม แล้วทำซ้ำอีกประมาณ 3 เซตต่อการโหนบาร์ 1 ครั้ง
3. ว่ายน้ำท่าผีเสื้อ
ท่านี้จะเอื้อให้เราได้ใช้กล้ามเนื้อช่วงหลัง ไหล่ และแขนได้อย่างเต็มที่ จึงจัดเป็นท่าว่ายน้ำเพิ่มความสูงที่ดีท่าหนึ่ง ทว่าหากใครสะดวกจะว่ายน้ำด้วยท่าอื่น ๆ ก็ไม่เป็นปัญหาค่ะ เนื่องจากการว่ายน้ำก็เป็นวิธีออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการยืดตัว และยังช่วยกระตุ้นการสร้างโกรทฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ช่วยเพิ่มความสูงให้เราได้ เพียงว่ายน้ำสักวันละ 30-40 นาทีเป็นประจำเท่านั้นเอง
4. ว่ายน้ำบนบก
สำหรับคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น ลองว่ายน้ำบนบกก่อนก็ได้ค่ะ โดยเริ่มจากท่านอนคว่ำหน้า ขาเหยียดตรง แขนก็เหยียดตรงไปด้านหน้า จากนั้นยกแขนซ้ายกับขาซ้ายพร้อมกัน แล้วสลับยกแขนขวากับขาซ้ายพร้อมกัน เลียนแบบท่าว่ายน้ำไปเรื่อย ๆ โดยพยายามให้แขนและขาเหยียดตรงมากที่สุด ทำไปจนกว่าจะรู้สึกไม่ไหว ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อขา และกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างดี
5. ก้มตัว + แตะขา
ท่าออกกำลังกายนี้ก็ง่าย และน่าจะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กค่ะ โดยเริ่มจากการยืนตรงเท้าชิดกัน จากนั้นโน้มตัวลงมาจนเอามือแตะที่หลังเท้าได้ หรือจับที่ส้นเท้าได้ โดยที่ขายังเหยียดตรง และเข่าไม่งอด้วยนะคะ ซึ่งท่านี้จะช่วยยืดกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อขาได้มากขึ้น
6. นั่งแตะปลายเท้า
นั่งเหยียดขาตรงเท้าชิดกัน จากนั้นค่อย ๆ โน้มตัวเอามือมาแตะที่ปลายเท้า ซึ่งแรก ๆ อาจแตะมือไม่ถึงปลายเท้าแต่ขอให้ค่อย ๆ พยายามฝึกไปเรื่อย ๆ เพราะท่านี้เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ช่วยยืดกระดูกสันหลังโดยตรงเลยล่ะ
7. ท่านอนหงาย ยกตัว (Pelvic Shift)
เริ่มจากนอนหงาย มือทั้งสองข้างวางข้างลำตัว โดยคว่ำฝ่ามือแนบไปกับพื้น จากนั้นชันเข่าขึ้นทำมุม 90 องศากับพื้น แล้วยกสะโพกขึ้นจากพื้น หายใจเข้าประมาณ 3 ลมหายใจ จากนั้นลดตัวกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำอีก 2 ครั้ง ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อหลัง กระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อขาด้านหลัง
8. ปั่นจักรยาน
เราจะได้ใช้กำลังขากับการปั่นจักรยานตลอดเวลา วิธีออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานจึงช่วยยืดกล้ามเนื้อขาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อีกทั้งการปั่นจักรยานยังจัดเป็นวิธีออกกำลังกายลดน้ำหนักสำหรับคนที่ข้อเข่าไม่ค่อยดีด้วยนะคะ
9. ยืนยืดตัว
ท่านี้ก็ง่ายค่ะ เพียงยืนกางขาเท่าช่วงไหล่ ยืดตัวขึ้นโดยประสานมือกันไว้เหนือศีรษะ จากนั้นพยายามเหยียดหลังให้ตรงและบิดตัวไป–มา ท่านี้จะช่วยให้เราได้ยืดกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อแขน–ขา และช่วยกระชับน่องด้วย
10. กระโดดยืดตัว (Squat Jump)
อยู่ในท่าสควอท ย่อตัวและกระโดดยืดตัวขึ้นเต็มความสูง พร้อมกับยกแชนชูขึ้นเหนือศีรษะ ทำซ้ำให้ได้ 2 นาที ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อแขน และกระดูกสันหลัง พร้อมทั้งยังเป็นท่าบอดี้เวทที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรทฮอร์โมนไปด้วยในตัว
11. นอนคว่ำ ยกขา
นอนคว่ำหน้าลงบนเสื่อโยคะ มือซ้อนกันไว้ใต้คาง ขาเหยียดตรงไปข้างหลัง จากนั้นสลับยกขาขึ้นทีละข้าง โดยแต่ละข้างให้ค้างท่าไว้ประมาณ 3-5 วินาที และพยายามยกขาให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ ท่านี้จะช่วยกระตุ้นกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อขาด้านหลัง
12. นอนหงาย ยกขาเหยียดตรง
นอนหงายประสานมือกันไว้ที่ท้ายทอย จากนั้นยกขาขึ้นเหยียดตรง ค้างท่าไว้สักพัก แล้วค่อย ๆ ลดขาลงมาจนเกือบแตะพื้น ค้างท่าไว้ 3-5 วินาที ยกขากลับขึ้นไปเหมือนเดิม ทำอย่างนี้ประมาณ 7-8 ครั้งต่อวัน จะช่วยยืดกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังได้มาก
13. แพลงก์
การฝึกท่าแพลงก์จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แค่เพียงทำเป็นประจำทุกวันคุณจะสามารถยืดเหยียดร่างกายได้มากขึ้น และการเล่นท่านี้ยังช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลัง โดยเฉพาะในส่วนที่คอยรองรับกระดูกสันหลังของเราด้วยนะคะ
14. โยคะเพิ่มความสูง
โยคะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อและกระดูกได้ดี ซึ่งท่าโยคะเพิ่มความสูงยอดฮิตก็มีตั้งแต่โยคะท่างูเห่า โยคะท่าแมว หรือโยคะท่าก้มตัว โดยแต่ละท่านั้นจะต้องฝึกอย่างไรและช่วยยืดกล้ามเนื้อส่วนไหนเป็นพิเศษบ้าง สามารถอ่านต่อจากลิงก์ด้านล่างนี้เลยค่ะ
15. กระโดดแทรมโพลีน
การออกกำลังกายด้วยการกระโดดบนแทรมโพลีนจะช่วยยืดกล้ามเนื้อที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มความสูง (Proper Stretching and Exercising Techniques) เพราะจะทำให้กระดูกหนาและแข็งแรงขึ้นจากการกระตุ้นการหลั่งสารโกรทฮอร์โมน และความหนาที่เพิ่มขึ้นของกระดูกขาก็จะช่วยเพิ่มความสูงได้อย่างน้อย 2.5 เซนติเมตรเลยทีเดียวค่ะ แถมยังเป็นวิธีออกกำลังกายที่สนุกอีกด้วยนะ
สรุป
ในวัยที่ยังสามารถเพิ่มความสูงได้อยู่ก็ลองปฏิบัติตามนี้ดูนะคะ ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่อาจหยุดสูงไปแล้ว ก็สามารถปรับความสูงได้ด้วยเทคนิคทางการแพทย์ เช่น ผ่าตัดกระดูก ปรับกระดูกในคนที่หลังค่อม เป็นต้น
แหล่งที่มา
https://health.kapook.com/
https://mydeedees.com/%e0%b8%aa%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b8%87-%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b8%b4%e0%b8%87/
|