อาหารประเภทมี “ฟอสฟอรัส” ที่ผู้ป่วย ” โรคไต ” ควรหลีกเลี่ยง
หลายคนอาจจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า การควบคุมอาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคไตจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะโซเดียม (Sodium) ตัวร้าย ที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงกันให้ดี แต่รู้กันหรือเปล่าคะว่า สารฟอสฟอรัส ก็เป็นอีกหนึ่งแร่ธาตุที่ผู้ป่วยโรคไตควรระวังมากไม่แพ้กันเลย วันนี้ Hello คุณหมอ เลยจะมาแนะนำ อาหารฟอสฟอรัสสูง ที่ผู้ป่วย โรคไต ควรหลีกเลี่ยง มาให้ทุกคนได้รับทราบกัน
มาทำความรู้จักโรคไตกัน ว่าคืออะไร?
คือ ภาวะที่ไตทำงานได้น้อยลงหรือผิดปกติ ซึ่งหน้าที่ของไตคือการกำจัดของเสียและสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย การหลั่งฮอร์โมน การควบคุมน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย ฯลฯ เมื่อไตทำงานได้น้อยลงจึงไม่สามารถกำจัดของเสียหรือสารพิษออกจากร่างกายได้ ระดับฮอร์โมนผิดปกติ รวมไปถึงความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย
อาการของโรคไต วิธีสังเกตว่าเป็น โรคไต ไตเรื้อรัง
อาการของ โรคไต มักเกิดจากที่ร่างกายสะสมของเสียมากเกินไปจนส่งผลต่อระบบต่างๆ และฮอร์โมนที่ผิดปกติเพราะไตทำงานน้อยลงจึงทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายสะอึก ซึม
คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รสชาติอาหารแปลกไป
ผิวแห้ง ระคายเคืองผิว คัน
มีอาการบวมน้ำ ตัวบวม มักเริ่มที่ เท้า และรอบดวงตาก่อน
ปัสสาวะผิดปกติ อาจมากหรือน้อยต่างกัน มักจะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
เป็นตะคริวบ่อยๆ
ทำไมผู้ป่วย โรคไต ถึงควรระวังอาหารฟอสฟอรัสสูง?
ฟอสฟอรัส (Phosphorus) เป็นหนึ่งสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นสารอาหารสามารถพบได้ทั่วไปในอาหารต่างๆ รวมไปจนถึงอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง หรือเครื่องดื่ม ที่อาจจะมีการใส่สารฟอสฟอรัสในรูปแบบของสารปรุงแต่งหรือสารกันบูด เพื่อช่วยยืดอายุของอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่เราจะบริโภคฟอสฟอรัสมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ และทำให้เกิดฟอสฟอรัสสะสมอยู่ในเลือด
สำหรับคนปกตินั้น การบริโภคฟอสฟอรัสมากเกินไปนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่อันตรายอะไร เพราะไตของเราสามารถช่วยขับฟอสฟอรัสส่วนเกินออกไปจากร่างกายได้ผ่านทางปัสสาวะ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต ที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกายได้ดีตามปกติ ก็อาจทำให้มีฟอสฟอรัสปริมาณมากสะสมอยู่ในร่างกาย และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
หากร่างกายของเรามีฟอสฟอรัสมากเกินไป ฟอสฟอรัสนั้นอาจจะไปดึงเอาแคลเซียมที่อยู่ในกระดูกออกมา จนทำให้กระดูกและฟันเปราะบาง และอาจจะแตกหักง่าย แคลเซียมที่ถูกดึงออกมานั้นก็จะอยู่ในกระแสเลือด ทำให้ระดับของแคลเซียมในเลือดมากเกินไป นำไปสู่ภาวะแคลเซียมเป็นพิษ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ดวงตา หรือหัวใจอีกด้วย
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจึงควรระมัดระวังการบริโภค อาหารฟอสฟอรัสสูง มากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากภาวะฟอสฟอรัสมากเกินไปนั่นเอง
อาหารฟอสฟอรัสสูงที่ควรเลี่ยง
นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
โดยเฉลี่ยแล้วคนเรานั้นจะได้รับฟอสฟอรัส 20-30% จากนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมต่างๆ นมนั้นเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมและฟอสฟอรัส ในนม 1 ถ้วย อาจจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากถึง 35% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยพวกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมพร่องมันเนย หรือไม่มีไขมัน มักจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไขมันเต็ม
ถั่วต่างๆ
แม้ว่าโดยปกติแล้ว เราอาจจะรู้กันว่าการรับประทานถั่วนั้นดีต่อสุขภาพ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ แต่การรับประทานถั่วมากๆ อาจจะไม่ดีต่อผู้ป่วยโรคไตเพราะในพืชตระกูลถั่วไม่ว่าจะเป็น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง หรือถั่วลูกไก่ ล้วนแล้วแต่ก็อุดมไปด้วยฟอสฟอรัสทั้งสิ้น เช่น ในถั่ว 1 ถ้วย อาจจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากกว่า 250 มิลลิกรัม ขึ้นไป ซึ่งเกือบจะถึงครึ่งของปริมาณฟอสฟอรัสที่ผู้ใหญ่ควรได้รับในแต่ละวัน
เครื่องใน
เครื่องในต่างๆ เช่น ไส้ ตับ หรือสมอง เป็นอีกแหล่งสำคัญของฟอสฟอรัส และแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ เช่น ในตับไก่ 85 กรัม อาจจะให้ฟอสฟอรัสมากกว่า 53% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับในแต่ละวัน ผู้ป่วยโรคไตจึงควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานเครื่องใน ไม่ควรกินมากจนเกินไป
อาหารทะเล
อาหารทะเลส่วนใหญ่นั้นจะเป็นแหล่งสำคัญของฟอสฟอรัส ทั้งปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาหมึก หอยนางรม หรือแม้กระทั่งปู ที่อาจจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากถึง 70% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน แต่จากการรับประทานในหนึ่งมื้อเท่านั้น อาหารทะเลจึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรระวัง
อาหารแปรรูป
อาหารแปรรูปส่วนใหญ่ มักจะมีการเติมฟอสฟอรัสเข้ามาในรูปแบบของสารปรุงแต่ง หรือสารกันบูด เพื่อช่วยยืดอายุของอาหาร และคงสภาพของอาหารให้คงตัวได้นานขึ้น ซึ่งฟอสฟอรัสที่อยู่ในอาหารแปรรูปนั้นอาจมีปริมาณตั้งแต่ 300-1,000 มิลลิกรัม เกินกว่าปริมาณของฟอสฟอรัสที่ผู้ใหญ่ควรได้รับในแต่ละวัน ซึ่งก็คือไม่เกิน 700 มิลลิกรัม ต่อวัน
ดูแลไตให้ดี ได้สุขภาพดี
เราช่วยเหลือไตได้ เพื่อให้กระบวนการกำจัดสารพิษทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ด้วย 5 ข้อนี้
1. เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ผักและผลไม้สด
ธัญพืชเต็มเมล็ดแทนธัญพืชที่ผ่านการขัดสีแล้ว
อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง เช่น ถั่ว ปลาที่มีไขมันสูง
จำกัดการรับประทานเนื้อแดง และอาหารที่มีไขมันสูง
หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทเนื้อหมัก เนื้อกระป๋อง และมันฝรั่งทอด
เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน และน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น
ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วต่อวัน การดื่มน้ำช่วยสนับสนุนให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างราบรื่น กรองสารพิษออกจากเลือดและขับสารพิษทางปัสสาวะ
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หรือบรรดา soft drink ทั้งหลาย
3. ไม่สูบบุหรี่
สารพิษที่อยู่ในบุหรี่จะเข้าไปในกระแสเลือด และส่งผลต่อหัวใจและไต คนสูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะไตวายมากถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่
4. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดต้านการอักเสบ
โดยเฉพาะยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ต้องทานหลังอาหารทันทีมักมีพิษต่อไต และการทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะเร่งให้การทำงานของไตเสื่อมถอยลง
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ช่วยทำให้กระบวนการเผาผลาญทำงานดีขึ้น
กระตุ้นการกำจัดของเสียที่สะสมในเลือด
ช่วยควบคุมความดันโลหิต
สรุป
อาหารเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของอาหารฟอสฟอรัสสูง ที่ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังเมื่อจะต้องเลือกกิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะงดไปเลย เพราะอาหารส่วนใหญ่ ทั้งนม เครื่องใน ถั่ว หรืออาหารทะเลนั้นจะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่ดีต่อร่างกายของเรา สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือไม่ควรกินอาหารเหล่านี้มากเกินไป และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น และป้องกันอันตรายที่อาจจะมาจากการกินอาหารนั่นเอง
แหล่งที่มา
https://www.sanook.com/
https://mydeedees.com/%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b9%84%e0%b8%95-%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%87/
|