มีอาการแสดงไหมว่าเรา ไขมันในเลือดสูง
คอเลสเตอรอลในเลือดต้องสูงระดับไหนถึงน่าเป็นห่วง เพราะเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและก่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้มากมาย
คอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีทั้งแบบดีและแบบไม่ดีต่อร่างกาย และหากได้รับไขมันเลวมาก ๆ จนสะสมอยู่ในร่างกายก็จัดเป็นภัยเงียบที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ ทว่าที่เขาเรียกว่าคอเลสเตอรอลสูงนี่ต้องสูงเท่าไรจึงจะเสี่ยงอันตรายแบบควรรีบลดแล้วจริง ๆ วันนี้เราลองมาดูข้อมูลไขมันในเลือดกัน
คอเลสเตอรอล คืออะไร
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย เพราะเป็นไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้ และเราก็สามารถรับคอเลสเตอรอลจากอาหารที่รับประทานได้เช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วคอเลสเตอรอลจะมีหน้าที่สนับสนุนเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ผลิตฮอร์โมน ย่อยวิตามินดีและสารบางชนิด เช่น กรดน้ำดี ที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร เพื่อช่วยในการย่อยไขมัน เป็นต้น
ถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะสงสัยว่าคอเลสเตอรอลสรุปแล้วเป็นไขมันดีหรือไขมันเลว ซึ่งก็ต้องบอกว่าคอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
คอเลสเตอรอลชนิดดี (ไขมันดี)
หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า HDL (High Density Lipoprotein) เป็นคอเลสเตอรอลที่ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลและกรดไขมันจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไปที่ตับ เพื่อให้ตับขับคอเลสเตอรอลส่วนเกินออกไป และป้องกันไขมันเลวเข้าไปสะสมในหลอดเลือดแดง การมีคอเลสเตอรอลชนิดนี้อยู่ในเลือดสูงจึงช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดี ส่งผลให้ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันลดลงไปด้วย
ทั้งนี้ เราสามารถรับคอเลสเตอรอลชนิดดีได้จากอาหาร เช่น นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต ไข่ไก่ ปลา ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี แฟลกซ์ซีด ถั่วเหลือง ผักใบเขียว ถั่วเปลือกแข็งอย่างวอลนัท และอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า 3
คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (ไขมันเลว)
หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า LDL (Low Density Lipoprotein) เป็นคอเลสเตอรอลที่ร่างกายรับมาจากอาหารไขมันสูง อาหารให้พลังงานสูง เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ติดมัน กะทิ ชีส อาหารทอด ๆ เป็นต้น โดย LDL มีหน้าที่นำพาไขมันคอเลสเตอรอลไปใช้ยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หากมีอยู่ในร่างกายมาก ๆ อาจทำให้เกิดตะกรันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดมีทางไหลเวียนโลหิตแคบลง หรือไหลเวียนไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ซึ่งจะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตกะทันหัน หรือเป็นสโตรก (Stroke) จนอัมพฤกษ์–อัมพาตได้
ไขมันในเลือดสูง เท่าไร แบบไหนอันตราย
จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า คอเลสเตอรอลมีทั้งชนิดดีและไม่ดี ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานของระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายควรเป็นดังนี้
ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ในคนปกติ
ไม่ควรน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ค่าที่เหมาะสมคือควรมากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในคนปกติ
ค่าปกติคือ น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ค่า 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าใกล้เคียงปกติ
ค่า 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าสูงเล็กน้อย
ค่า 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าสูง
ค่ามากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ถือเป็นระดับที่สูงมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นอกจากนี้เรายังต้องเช็กระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ด้วย โดยคอเลสเตอรอลรวมคือ การนำคอเลสเตอรอลชนิดดี ชนิดไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ มารวมกัน ซึ่งเกณฑ์ของค่าคอเลสเตอรอลรวมเป็นดังนี้
น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
ค่า 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าสูงเล็กน้อย เริ่มอันตราย
มากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าสูงมาก
อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจเลือดพบว่าคอเลสเตอรอลรวมสูงเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะเราจะต้องมาเช็กค่าคอเลสเตอรอล HDL, LDL และไตรกลีเซอไรด์ แต่ละตัวว่ามีค่าเท่าไร ซึ่งในบางคนอาจมีค่า HDL สูง แต่ LDL และไตรกลีเซอไรด์ต่ำ ทำให้ค่าคอเลสเตอรอลรวมทั้งหมดออกมาสูงก็เป็นได้ โดยกรณีที่แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดไขมันในเลือดนั้นจะดูจากระดับ LDL เป็นหลัก
คอเลสเตอรอลสูง ไขมันในเลือดสูง อาการแสดงมีอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะไม่ค่อยแสดงอาการป่วยเท่าไร แต่มักจะตรวจพบระดับไขมันจากการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพประจำปี ยกเว้นในคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก ๆ อาจมีอาการแสดงได้บ้าง เช่น
ผิวหนังมีปื้นสีเหลืองขึ้นเป็นปื้นหนา โดยมักจะเจอบริเวณหนังตา ข้อศอก เข่า ฝ่ามือ ซึ่งลักษณะของปื้นตรงกลางจะมีสีเหลือง ส่วนฐานของตุ่มจะมีลักษณะสีแดง
ปวดแขน ขา มีอาการตึง ยืดเหยียดไม่ถนัด
ปวดท้อง โดยเฉพาะในคนที่ตับอ่อนอักเสบจากภาวะไขมันสูงเกิน
หากไขมันสูงมาก ๆ จนหลอดเลือดแตกหรืออุดตัน อาจเกิดอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว เป็นต้น
คอเลสเตอรอลสูงอันตรายอย่างไรบ้าง
การมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) สูงเกินมาตรฐาน อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพดังนี้
เกิดการสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและแข็ง โลหิตไหลเวียนไม่สะดวก
เสี่ยงนิ่วในไตเพิ่มขึ้น เพราะไขมันส่วนเกินที่สะสมในระบบย่อยอาหารอาจสะสมจนตกตะกรัน กลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด
อาจส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ เสี่ยงภาวะหัวใจขาดเลือด
เสี่ยงภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจส่งผลต่อความจำ เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้นได้
ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงเกินไปในระยะยาวอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเส้นประสาทใบหน้า กราม ลิ้น และเพิ่มความเสี่ยงโรคอัมพฤกษ์–อัมพาตมากขึ้นได้ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ระบบไหลเวียนเลือดติดขัด
วิธีลดคอเลสเตอรอลในเลือด
เราสามารถลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดได้ง่าย ๆ ดังนี้
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาหารไขมันอิ่มตัว อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เนย มาร์การีน อาหารทะเล เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ฟาสต์ฟู้ด เค้ก คุกกี้ ของทอด
รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชต่าง ๆ และแอปเปิล เป็นต้น
เลือกใช้น้ำมันพืชปรุงอาหารแทนน้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดี
หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที
งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะไปลดระดับ HDL ลง
งดเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์
หากตรวจพบว่ามีระดับไขมันในเลือดสูงเกินมาตรฐานและแพทย์ให้ยามา ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด พร้อมปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย
สรุป
อย่างไรก็ดี ขอย้ำกันอีกทีว่าการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง เป็นเรื่องที่ไม่ควรวางใจเลยนะคะ เพราะส่งผลร้ายต่อร่างกายไม่ใช่เล่นเลย และหากมีพฤติกรรมชอบรับประทานของมัน ๆ ทอด ๆ แถมไม่ค่อยออกกำลังกาย อย่างน้อยก็ควรพาตัวเองไปตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเช็กระดับไขมันในเลือดว่าปกติไหม หรือควรต้องปรับการกินอย่างไรเพื่อเป็นการ save สุขภาพตัวเอง
แหล่งอ้างอิง
https://health.kapook.com/
https://mydeedees.com/%e0%b9%84%e0%b8%82%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b8%87/
|