ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
เป็นกลุ่มของโรคที่พบบ่อยในคนที่ทำงานออฟฟิศหรือวัยทำงาน เนื่องจากต้องนั่งทำงานนาน ๆ ใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ รวมทั้งอาจมีการจัดระเบียบร่างกายที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ การ Work From Home ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อาจทำให้เกิดอาการ ออฟฟิศซินโดรม ได้เช่นกัน แถมยังอาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการทำงานที่ออฟฟิศในสถานการณ์ปกติเสียอีก
ภาวะ ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นคำรวม ๆ ของกลุ่มโรคที่เกิดจากลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน นั่งโต๊ะทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ซึ่งสามารถเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้หลากหลายระบบ เช่น อาการปวดตึงกล้ามเนื้อ อาการชาที่มือ อาการปวดบวมตามข้อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอาการปวดเสียดท้องจากการทานอาหารไม่ตรงเวลาและความเครียดจากงาน
ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดการปวดเมื่อย มักจะพบบ่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก
โรคเส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel Syndrome)
นิ้วล็อค (Trigger Finger)
เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis)
ปวดหลังจากท่าทางไม่เหมาะสม (Postural Back Pain)
อาการปวดเข่าทางด้านหน้า (Patellofemoral Syndrome)
โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia)
ตัวการออฟฟิศซินโดรม
เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ร่วมกับท่าทางของร่างกายไม่เอื้ออำนวย ไม่เหมาะสม กล้ามเนื้อเกิดการล้า ร่วมทั้งสภาวะแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ในบางราย อาจจะมีปัจจัยภายในร่วมด้วย เช่น มีภาวะกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน (Muscle Imbalance) หรือภาวะความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (Spinal Deformity) ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดได้
ป้องกันออฟฟิศซินโดรมช่วง Work From Home
การป้องกันภาวะออฟฟิศซินโดรมในช่วง Work From Home สามารถทำได้ไม่ยาก ดังนี้
ปรับโต๊ะทำงานและสภาพแวดล้อม จัดบริเวณทำงานให้เหมาะสม แสงสว่างเพียงพอ หากอยู่ใกล้หน้าต่าง สามารถมองเห็นวิวภายนอกห้องได้ยิ่งดี ควรเลี่ยงการนั่งทำงานบนพื้น เลือกโต๊ะทำงานให้ความสูงเหมาะสม โดยจอคอมพิวเตอร์อยู่ระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ปรับระดับความสูงเก้าอี้ให้พอเหมาะ หากมีที่วางแขนก็จะช่วยได้มากขึ้น แขน และข้อมือควรจะขนานกับโต๊ะทำงาน ไม่วางเมาส์และคีย์บอร์ดไกลเกินไป ทำให้ต้องเอื้อมแขน หรือก้มหลัง ควรงอข้อศอกประมาณ 90 องศา หลังตรงพิงพนักเก้าอี้ ต้นขาขนานกับพื้น ไม่งอเข่าเกิน 90 องศา หากขาไม่ถึงพื้น สามารถใช้ที่วางเท้าช่วยได้
ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ควรทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรจะปรับเปลี่ยนท่าทางทุก ๆ 1 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย เหยียดยืดกล้ามเนื้อ ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ มองวิวภายนอกห้อง ผ่อนคลายความเครียด
บริหารร่างกายเป็นประจำ ทั้งการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่นและการออกกำลังเพื่อเสริมความแข็งแรงให้ร่างกายและกล้ามเนื้อมีความพร้อมในการทำงาน
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ปัจจุบันมีการใช้งานมือถือและแท็บเล็ตเป็นเวลานานขึ้น โดยเฉพาะก่อนนอนขณะอยู่บนเตียง ซึ่งนอกจากสายตาต้องทำงานหนักในความมืดแล้ว กล้ามเนื้อรอบ ๆ คอ บ่า ไหล่ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน
พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7 – 9 ชั่วโมง และทานอาหารให้ครบถ้วนตามสารอาหาร
Be Active การ Work from Home ในช่วง COVID-19 อาจทำให้เกิดความเครียดและขาดการขยับร่างกาย ดังนั้นการหมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ หรือเต้นประกอบเพลงตาม Social Network จะช่วยให้สภาพร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจแจ่มใสมากขึ้น
วิธีการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรค
1. ไม่ควรนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ
หากเริ่มรู้สึกปวดเมื่อย ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง อย่างการลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป
2. นั่งทำงานในท่าที่ถูกต้อง
การนั่งทำงาน ไม่ควรนั่งหลังค่อมหรือนั่งเอนหลัง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการล้าและเสียบุคลิก ควรจะนั่งหลังตรง ซึ่งไม่เพียงช่วยลดอาการปวดหลัง แต่ยังทำให้สุขภาพหมอนรองกระดูกดีขึ้น ป้องกันโรคข้อ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ทำให้การไหลเวียนของออกซิเจนดี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้อีกด้วย
3. ไม่ควรเพ่งหน้าจอคอมนานๆ
กล้ามเนื้อร่างกายยังต้องการพักผ่อน สายตาเองก็เช่นกัน จึงไม่ควรเพ่งจอคอมนานหรือใกล้จนเกินไป ควรพักสายตาทุกๆ 1 ชั่วโมง เพราะหากเราเพ่งสายตากับจอคอมนานเกินไป อาจส่งผลทำให้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อตาและปวดศีรษะได้
4. ปรับสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้น่าอยู่
บรรยากาศในห้องทำงานไม่ควรแออัดเกินไป มีอากาศถ่ายเทที่ดี ควรใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระ สำหรับแสงไฟในห้องควรจะมีความเหมาะสม ไม่จ้าหรือสลัวเกินไป จะช่วยถนอมสายตาได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญในห้องทำงานควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแสงแดดหรือแสงสว่างจากภายนอกส่องเข้ามาในห้องโดยตรง เพราะแสงที่สว่างเกินไปจะก่อให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึก ไม่สบายตาได้
5. ออกกำลังกายคือยาวิเศษ
การออกกำลังกายเป็นการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกีฬาที่ช่วยในเรื่องของการยืดเส้นและสร้างความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแล้ว ยังป้องกันเอ็นและ ข้อยึด ช่วยผ่อนคลายความเครียด และสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้อีกด้วย
6. รักษาด้วยการใช้ยา
สำหรับคนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมที่เริ่มรุนแรงขึ้นแล้ว อาจต้องได้รับยาในการรักษา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด โดยยาเหล่านี้ควรผ่านการพิจารณาและสั่งโดยแพทย์ผู้วินิจฉัยเท่านั้น
7. รักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เป็นการรักษาด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น Ultrasound เครื่องดึงคอ หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบตะวันตก และการสอนท่าบริหาร เพื่อการป้องกันและรักษา ในเคสที่เป็นมานานเรื้อรังยังมีการสอนหายใจ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย
8. รักษาด้วย Shock Wave
คลื่นกระแทก (Shock Wave) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดระยะเรื้อรังที่ผ่านการรักษาต่างๆ มาแล้วไม่ดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการปวดข้อศอก เอ็นข้อศอกอักเสบ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดสะโพกร้าวลงขา ปวดฝ่าเท้าเรื้อรัง โรครองช้ำ ปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดเข่า บาดเจ็บจากกีฬา เป็นต้น
สรุป
หากมีอาการปวดเมื่อยเรื้อรังหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น ชาหรืออ่อนแรงอาจเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการข้อปวดบวมอาจมีการอักเสบภายในข้อ อาการปวดมากกลางคืนหรือมีก้อนโตขึ้น อาจจะเกิดจากเนื้องอกได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
อ้างอิง
https://www.bangkokhospital.com/content/work-from-home-and-office-syndrome
https://www.nakornthon.com/
https://mydeedees.com/%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99-%e0%b8%ad/
|