โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคยอดฮิตของเหล่าคนสูงอายุ
ที่อาจจะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน หลังจากทำงานกันมาอย่างหนักหน่วงมามากกว่าครึ่งชีวิต สาเหตุของโรคความดันโลหิตไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนก็จริง แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานที่เราทำได้ไม่ดีพอ ตั้งแต่เรื่องอาหารการกินที่เราอาจจะทานอาหารไม่สมดุลกันทั้ง 5 หมู่ จนทำให้น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทานโซเดียม หรือรสเค็มมากเกินไป รวมไปถึงขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ สะสมความเครียดมากเกินไป และการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์
เมื่อไรถึงเรียกว่า ความดันโลหิตสูง?
ความดันโลหิตมี 2 จำนวน คือ ค่าบน เป็นความดันช่วงหัวใจบีบ และค่าล่าง เป็นความดันช่วงหัวใจคลายตัว ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ค่าบนไม่เกิน 120 และค่าล่างไม่เกิน 80 หากคุณมีความดันอยู่ที่ 130/80 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูงเรียบร้อยแล้ว
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ควรลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท และให้ต่ำกว่านี้อีกหากเป็นโรคเบาหวานหรือมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหัวใจขาดเลือด เป้าหมายการลดความดันควรน้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท
เมื่อถึงเวลาที่ต้องรักษาโรคความดันโลหิตสูง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการรับยาที่เหมาะสมเพื่อช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ จึงเป็นเรื่องที่แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้กับเรา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เป็นเบาหวาน แต่หากเราทราบข้อมูลเอาไว้ว่ายาลดความดันโลหิตมีหลายประเภท และประเภทใดออกฤทธิ์อย่างไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองมากยิ่งขึ้น จึงมีข้อมูลของกลุ่มยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
7 กลุ่มยารักษาโรค “ความดันโลหิตสูง”
กลุ่มยาขับปัสสาวะ
ได้แก่ ยาไฮโดรคลอโรธัยอาไซด์ (hydrochlorothiazide) ยาฟูโรซีมายด์ (furosemide) ยาอะมิโลรายด์ (amiloride) เป็นต้น ยาจะออกฤทธิ์โดยการขับเกลือออกจากร่างกาย ทำให้ปัสสาวะบ่อย
ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้คือ อาจจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ระดับโปแตสเซียมในเลือดผิดปกติ ระดับไขมันในเลือดสูง
กลุ่มยาปิดกั้นการไหลของแคลเซียมเข้าสู่เซลล์
ได้แก่ ยาไนเฟดิปีน (nifedipine) ยาแอมโลดิปีน (amlodipine) เป็นต้น จากการปิดกั้นการไหลของแคลเซียมเข้าสู่เซลล์นี้เอง จะเป็นผลให้กล้ามเนื้อที่หลอดเลือดคลายตัวและนำไปสู่การขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลงตามมา
ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงได้แก่ ใจสั่น ปวดศีรษะ ข้อเท้าบวม ท้องผูก
กลุ่มยายับยั้งการสร้างแอนจิโอแทนซิน
เรียกย่อๆ ว่ากลุ่มยาเอซีอีไอ (ACEI) ซึ่งย่อมาจาก angiotensin converting enzyme ได้แก่ ยาอินาลาพริล (enalapril) ยาแคปโตพริล (captopril) ยาไลสิโนพริล (lisinopril) เป็นต้น ยาจะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่สร้างแอนจิโอแทนซิน (angiotensin) ซึ่งมีผลทำให้หลอดเลือดหดตัว ดังนั้นเมื่อไม่มีแอนจิโอแทนซิน การหดตัวของหลอดเลือดจึงเกิดน้อยลง ทำให้ความดันโลหิตลดลงได้
ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ได้แก่ ไอแห้งๆ เกิดภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง
กลุ่มยาขัดขวางการจับตัวรับแอนจิโอแทนซิน
เรียกย่อๆ ว่ากลุ่มยาเออาบี (#ARB) ซึ่งย่อมาจาก angiotensin receptor blocker ได้แก่ ยาลอซาร์แทน (losartan) ยาเออบิซาร์แทน (irbesartan) ยาวาลซาร์แทน (valsartan) ยาแคนดิซาร์แทน (candesartan) เป็นต้น ผลของการขัดขวางไม่ให้แอนจิโอแทนซินจับกับตัวรับนี้จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตจึงลดลง
ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ได้แก่ เกิดภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง
กลุ่มยาปิดกั้นเบต้า
ได้แก่ ยาอะทีโนลอล (atenolol) ยาโปรปราโนลอล (propranolol) ยาเมโตโปรลอล (metoprolol) เป็นต้น ยาจะปิดกั้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ชีพจรช้าลง แล้วเกิดความดันโลหิตลดลงตามมา
ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ ที่พบบ่อยได้แก่ อาการอ่อนเพลียซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงแรกที่รับประทานยาแต่อาการจะลดลงเมื่อรับประทานยาอย่างต่อเนื่องประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ อาการซึมเศร้า ฝันร้าย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ยากลุ่มนี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หรือ เป็นโรคถุงลมโป่งพอง เพราะอาจทำให้อาการของโรคปอดดังกล่าวกำเริบได้ง่ายขึ้น
กลุ่มยาปิดกั้นแอลฟ่า
ได้แก่ ยาปราโซสิน (prazosin) ยาด๊อกซาโสซิน (doxasozin) เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะปิดกั้นระบบประสาทอัตโนมัติที่กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และเป็นผลให้ความดันโลหิตลดลง
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยากลุ่มนี้คือ ความดันต่ำเวลาเปลี่ยนท่าซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรระมัดระวังการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างทันทีทันใดเช่น หากต้องการลุกขึ้นยืนเมื่ออยู่ในท่านอนมานานๆ ควรเปลี่ยนเป็นท่านั่งก่อน แทนที่จะลุกขึ้นยืนจากท่านอนทันที
อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้แก่ ปวดศีรษะ ใจสั่น อ่อนแรง
กลุ่มยาขยายเส้นเลือดแดง
ได้แก่ ยาไฮดราลาซีน (hydralazine) ยาไมนอกซีดิล (minoxidil) เป็นต้น ยามีฤทธิ์ขยายเส้นเลือดโดยตรง ทำให้ความดันโลหิตลดลง
ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ ได้แก่ หน้าแดง ใจสั่น ปวดหัว เป็นต้น
เลือกทานยารักษาโรคความดันโลหิตสูงอย่างไร?
โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาลดความดันโลหิตเพียงขนานเดียวก่อน หากยังไม่สามารถลดความดันโลหิตได้จึงจะให้ยาหลายขนานร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ายาใดเหมาะสม โดยมักจะเลือกให้ยาที่มีผลในการลดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ให้รับประทานเพียงวันละครั้ง เพื่อความสะดวก และสามารถควบคุมความดันโลหิตไม่ให้แกว่งมากในระหว่างวัน
โรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสหายเป็นปกติหรือไม่?
หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต คุณควรที่จะใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ขาดยา ไม่ลดขนาดยาหรือเพิ่มขนาดยาเอง และต้องไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง แพทย์อาจให้คุณรับประทานยาเดิมหรือปรับขนาดยาให้ใหม่ ซึ่งเภสัชกรจะจัดยาให้คุณและแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้องให้ หากมียาเก่าเหลือ คุณควรพกยาติดตัวไปด้วย เพื่อที่เภสัชกรจะได้เก็บยาที่แพทย์สั่งเลิกใช้ออกไป หรือเปลี่ยนฉลากยาให้ใหม่ในกรณีที่แพทย์เปลี่ยนขนาดยา นอกจากนี้คุณไม่ควรใช้ยาลดความดันโลหิตสูงของผู้อื่น เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น อาจมีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง หรือมีภาวะโรคอื่นหรือยาอื่นที่ใช้ร่วมด้วย เป็นต้น
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย
การใช้ยาให้น้อยที่สุด น่าจะเป็นผลดีต่อร่างกายที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยให้ความดันโลหิตลดต่ำลงเป็นอันดับแรก ด้วยการงดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก ลดการดื่มแอกอฮอล์ ลดการรับประทานเกลือ (ควรได้รับโซเดียมคลอไรด์น้อยกว่า 6 กรัม/วัน) รับประทาน DASH diet (Dietary Approach to Stop Hypertension) คือ เพิ่มอาหารประเภทผัก ผลไม้ และลดไขมันอิ่มตัวและลดปริมาณไขมัน ร่วมกับออกกำลังกายวันละ 30-45 นาที อย่างสม่ำเสมอ
https://mydeedees.com/%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b8%94-%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%94%e0%b8%b1%e0%b8%99-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b9%88/
|