แสงแดด ความร้อนและเหงื่อ เป็น 3 ปัจจัยหลักที่มากับหน้าร้อน
และเป็นสาเหตุสำคัญหลักที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังในหน้าร้อน
1. ผิวไหม้จากแสงแดด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยหลังจากการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ
โดยเฉพาะแสงแดดที่มีความเข้มค่อนข้างสูงในช่วงฤดูร้อน รังสียูวีบีเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวในรายที่เป็นน้อย จะพบว่าผิวมีสีแดงมากขึ้น หลังจากสัมผัสแดด ในรายที่เป็นมากคนไข้อาจมีอาการแสบร้อนแดงและลอกของผิวหนัง ซึ่งมีความจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา การปกป้องผิวจากแสงแดดเช่น การทาครีมกันแดด การใส่หมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว การกางร่ม เป็นสิ่งที่สำคัญป้องกันก่อนที่จะเกิดผิวไหม้จากแสงแดด ในผู้ป่วยที่มีผิวไหม้จากแสงแดดบ่อย ๆ มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังในภายหลัง และแสงแดดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดริ้วรอย รวมถึงการเสื่อมสภาพของเส้นใยคอลลาเจนและอิลาสตินใต้ผิว
2. ฝ้า คือความผิดปกติของเม็ดสีในชั้นตื้น แสงแดดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญมากในการเกิดฝ้าและกระแดด
ฝ้ามีลักษณะเป็นปื้นสีดำหรือน้ำตาลมักพบบ่อยบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณส่วนนูนของใบหน้า เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม และขมับ ดังนั้นการปกป้องผิดจากแสงแดดด้วยการทายากันแดดที่มีค่าปกป้อง ทั้ง UVB ( SPF มากกว่า 50) และ UVA (PA+++) ในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร ทุกครั้งที่ออกแดดจัด จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญมาก นอกจากยาทากันแดดและยารักษาฝ้าแล้ว ในปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีทันสมัยมากมายที่นำมาใช้ในการรักษาฝ้า เช่น แสงความเข้มข้นสูง, เลเซอร์, การผลักวิตามินเข้าสู่ผิวหนังและการพ่นละอองน้ำ ซึ่งหลักการรักษาที่ได้ผลดีมากในปัจจุบันคือ การรักษาแบบผสมผสาน ใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน รวมถึงการป้องกันผิวจากแสงแดด
3. ผด มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กใสสีแดง ๆ มักพบบริเวณ ใบหน้า ลำคอ ตัว ข้อพับ แขนและขาในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย
สาเหตุหลักเกิดจากการอุดตันของบริเวณต่อมเหงื่อ การใส่เสื้อผ้าโปร่ง เนื้อบางเบา มีการระบายอากาศได้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นภาวะดังกล่าว หากผู้ป่วยมีอาการเป็นมาก แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
4. กลิ่นตัว เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในหน้าร้อน โดยพบได้บ่อยที่บริเวณ รักแร้ ขาหนีบ รอบหัวนม และอวัยวะเพศ
ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่อค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อมีการหลั่งเหงื่อออกมามากจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเชื้อแบคทีเรียบริเวณดังกล่าว และเกิดกลิ่นเหม็นตามมา การป้องกันคือ การอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ร่วมกับใช้ยาระงับกลิ่นกาย และลดการหลั่งของเหงื่อ รวมกับหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งของเหงื่อมากก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำสารโบทูลินูม ท๊อกซิน หรือที่รู้จักกันในนามของโบท๊อกซ์ เพื่อใช้ลดการหลั่งของเหงื่อ ซึ่งจะทำให้กลิ่นตัวลดลง เป็นวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ในการรักษาและมีความปลอดภัย ทั้งนี้คนไข้ควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินปัญหาและวิธีการักษาที่เหมาะสมต่อไป
https://mydeedees.com/%e0%b8%9c%e0%b8%b4%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%89-%e0%b8%9d%e0%b9%89%e0%b8%b2-%e0%b8%9c%e0%b8%94-%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7-%e0%b8%97/
|