มติชนมติครู : นักเรียนจะเกิดสมรรถนะได้อย่างไร?
เป้าหมายในการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้มีสมรรถนะ เป็นเป้าหมายที่นานาอารยประเทศได้กำหนดไว้ และพยายามขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา รวมทั้ง หลักสูตรการศึกษาของชาติ ให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันมาเป็นระยะเวลามากกว่าทศวรรษ กล่าวคือ นักเรียนไม่ใช่มีแค่เพียงความรู้จากเนื้อหาสาระวิชา (Content Knowledge) เท่านั้น หากแต่การจัดการเรียนการสอน ต้องทำให้นักเรียนเกิดทั้งทักษะต่างๆ (Skills) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดีจากการเรียน รวมถึง องค์ประกอบสำคัญบางประการ เช่น บุคลิกภาพ อุปนิสัย แรงจูงใจภายใน ฯลฯ ให้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันด้วย
ตามที่ประเทศไทยเราได้พัฒนา หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) มาแล้วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อต้องการสร้างเยาวชนที่มีสมรรถนะ พร้อมในการดำเนินชีวิตในอนาคตได้ เมื่อนักเรียนพบเจอสถานการณ์ หรือปัญหาใดใด เขาสามารถที่จะนำเอาความรู้ที่เรียนมาดึงมาใช้ ผสมกับทักษะต่างๆ ที่เกิดจากการบ่มเพาะในตอนที่เรียน ผสานกับทัศนคติที่ดีในการแก้ไขปัญหาที่พบเจอกับตัวเองให้ผ่านพ้นไปด้วยดี ผลของการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ จึงจะมีคุณค่า และมีความหมายกับตัวนักเรียนอย่างแท้จริง
เมื่อนักเรียนเป็นผลผลิตจากกระบวนการศึกษา โดยมีครูเป็นบุคคลสำคัญในการจัดการเรียนการสอน จึงไม่ผิดหากเราจะใช้คำพูดที่ว่า “You are what you eat” หลายคนคงสงสัยว่าเกี่ยวอะไรกับการกิน เพราะสำนวนนี้หมายความว่า “คุณกินอย่างไร คุณก็เป็นอย่างนั้น” ดังนั้น “ครูเป็นอย่างไร นักเรียนก็จะเป็นอย่างนั้น” เช่นกัน ผู้เขียนต้องการจะสื่อว่า หากเราต้องการให้นักเรียนเกิดสมรรถนะจากการเรียนรู้ในห้องเรียน เราคงต้องย้อนดูว่า ครูผู้สอนมีสมรรถนะพร้อมแล้วหรือยัง
หลายคนมีชุดความคิดที่ว่า คนเป็นครูที่เก่ง จะต้องเป็นครูที่มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่ตนเองสอนอย่างแม่นยำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเป็นครูต้องใช้สมรรถนะอย่างแท้จริง (ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ) คือ เก่งแต่ความรู้ในเนื้อหาวิชาอย่างเดียวคงไม่พอ จำเป็นต้องมีทักษะต่างๆ ประกอบในการจัดการเรียนการสอนด้วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดต่างๆ (เช่น คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดสังเคราะห์ ฯลฯ) ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน ทักษะการสอน ทักษะการแก้ปัญหา และอื่นๆ อีกหลากหลายทักษะ
อีกทั้ง คนที่เป็นครูได้ดี ต้องมีทัศนคติที่ดีในการประกอบวิชาชีพครูเสียก่อนด้วยซ้ำไป ทว่าไม่ได้รักในการสอน ไม่ชอบเด็ก หรือมีอคติต่อการเป็นครู จะไม่สามารถปฏิบัติงานสอนของตัวเองได้อย่างสำเร็จแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น บุคลิกภาพน้ำเสียงของครูต้องดี ครูต้องทำตนให้เหมาะสมกับการเป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) ให้กับนักเรียน และการมีแรงผลักดันในการสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพื่อพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอๆ เห็นได้ว่านี่คือองค์ประกอบของสมรรถนะที่สำคัญของการเป็นครูอย่างแท้จริง
กระบวนการคัดเลือกคนที่จะมาเป็นครู จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
หากเราต้องการให้นักเรียนไทยของเราเป็นผู้ที่มีสมรรถนะ เราต้องสรรหาคนที่จะมาเป็นครูให้มีสมรรถนะพร้อมเสียก่อน
เชื่อว่าหลายปีมานี้ ในหลายสถาบันการผลิตครู มีความตื่นตัว และมีความมุ่งมั่นพยายามในการผลิตนิสิต นักศึกษาครู ให้เพียบพร้อมเต็มไปด้วยสมรรถนะเพื่อการก้าวเข้าสู่วิชาชีพครูอย่างเต็มภาคภูมิ
ผู้เขียนขอฝากไว้ว่า…
“ครูที่เก่งเนื้อหาวิชาอย่างเดียวคงไม่พอ หากสอนไม่เก่ง ขาดลีลาการสอน หรือทัศนคติเป็นลบในวิชาชีพ”
“ครูที่สอนเก่ง ลีลาดีอย่างเดียวก็ไม่ได้เช่นกัน หากความรู้ที่จะถ่ายทอดออกไปไม่แม่นยำ หรือทัศนคติไม่ดีต่อการเป็นครู” และ
“ครูที่มีทัศนคติทางบวกในการเป็นครูมาก แต่ขาดทั้งความแม่นยำในเนื้อหา และทักษะการสอน” ยิ่งซ้ำเติมให้ดูแย่ลงไปกว่าเดิม
ดังนั้น ประเทศเราต้องการครูที่ทั้งเก่ง ดี มีทักษะต่างๆ และรักในการเป็นครูอย่างแท้จริง ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าต่อให้ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพครูกี่ครั้ง จะต้องเผชิญกับเกณฑ์ไหน หรือจะเปลี่ยนเกณฑ์อีกกี่รอบ หากเรามีความมั่นใจในสิ่งที่เราต้องการทำ ต้องการเป็น เราก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ในทุกอุปสรรค
อย่างไรก็ตาม การสอบไม่ได้เป็นตัวการันตีว่า เราจะเป็นครูที่มีสมรรถนะในวิชาชีพครู 100% ได้เลย หากเราขาดองค์ประกอบของสมรรถนะ 3 ประการข้างต้นไป ขอให้ผู้ที่เป็นครู หรือกำลังจะเป็นครูในอนาคต เชื่อมั่นในตนเอง และมีใจรักในการเป็นครู มุ่งมั่นในการพัฒนาเด็ก และเยาวชนของเรา ให้เติบโตไปอย่างมีสมรรถนะมีภูมิคุ้มกันที่ดี และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในอนาคตก็คงเพียงพอ
https://have-a-look.net/2023/03/20/%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%81%e0%b8%b3%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b9%84%e0%b8%a7%e0%b9%89-%e0%b8%aa%e0%b8%b3%e0%b8%ab/
|