[ คลิกที่รูปเพื่อดูขนาดจริง ]
"เปตอง" จัดได้ว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ เหมาะกับผู้สูงอายุ เนื่องจากมีวิธีการเล่นที่ไม่ได้หนักหน่วง และยังช่วยให้ผู้สูงวัยได้ออกกำลังแขนขา ข้อศอก ข้อมือ ที่สำคัญยังป้องกันโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย
ที่น่าสนใจนั้น กีฬาโยนลูกเหล็กดังกล่าวถือเป็น "กีฬาของสมเด็จย่า" เนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงโปรด และทรงช่วยส่งเสริม เผยแพร่ให้อีกทางหนึ่ง โดยรับสั่งให้จัดการแข่งขันเปตองชิงชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น ซึ่งครั้งนั้นพระองค์ท่าน และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงได้ลงร่วมทำการแข่งขันด้วย จึงทำให้กีฬาเปตองกลายเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น
หลักการเล่นกีฬาเปตองคร่าวๆ นั้น จะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม ทีมละ 3 คน โดยจะแบ่งหน้าที่กันคือ มีทั้งมือวาง (ผู้ที่เริ่มโยนเป็นคนแรก) นอกจากนี้จะมีมือตี (ผู้ที่ต้องโยนลูกเปตองไปตีกระทบลูกเปตองของอีกฝ่ายให้อยู่ห่าง "แก่น" หรือ "ลูกเป้า" คือลูกบอลขนาดเล็กที่ใช้วางเป็นจุดกึ่งกลางของการเล่น ซึ่งใช้ตัดสินการแพ้ชนะ) โดยจะผลัดกันโยนลูกให้ครบจำนวนผู้เล่น (ทีมที่มีลูกทีม 3 คนจะได้ลูกเปตองคนละ 2 ลูก) กระทั่งนำมาสู่การตัดสินว่าลูกเปตองของผู้เล่นทีมไหนจะอยู่ใกล้ "แก่น" มากที่สุด โดยการใช้สายเทปวัด ก็ถือเป็นผู้ชนะ
งานนี้ โค้ชศรี-สุทธิศรี มณีรัตนโศภิต ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาเปตองกับผู้สูงอายุไว้น่าสนใจว่า ข้อดีของกีฬาเปตองกับผู้สูงอายุ เป็นการออกกำลังกายที่ไม่ได้หนักจนเกินไป ซึ่งถือเป็นการฝึกบาลานซ์กำลังแขน-ขาขณะโยนลูก นอกจากนี้ยังช่วยฝึกสมาธิ และลดความกังวลสำหรับผู้สูงอายุที่ยังทำงานประจำ หรือคลายเครียดจากการทำงาน ในส่วนของผู้เล่นที่อยู่ในวัยเกษียณนั้น ก็ช่วยทั้งสร้างสังคมให้กับคนรักสุขภาพ และป้องกันโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี
"ประโยชน์ทางกายที่นักกีฬาเปตองรุ่นใหญ่จะได้รับคือ เนื่องจากกีฬาชนิดนี้ไม่ต้องออกแรงมากในการเล่น ที่สำคัญยังทำให้ร่างกายเกิดความบาลานซ์ของแขนและขาระหว่างที่ผู้เล่นโยนลูก และยังเป็นกีฬาที่ช่วยลดโรคที่เกี่ยวกับข้อเสื่อมในผู้สูงอายุได้ เนื่องจากเป็นการกีฬาที่ต้องใช้สมาธิขณะโยนลูกเหล็ก เพื่อกะระยะให้ลูกอยู่ใกล้แก่น (ลูกเป้า) มากที่สุด ดังนั้นเมื่อผู้เล่นมีสมาธิก็จะทำให้ระบบหายใจดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปยังระบบไหลเวียนโลหิตให้ทำงานได้ดี จึงลดอาการติดขัดที่บริเวณข้อต่อส่วนต่างๆ เรียกว่าผู้สูงอายุจะได้ฝึกสมาธิแล้ว ยังป้องกันโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย"
สำหรับการเตรียมตัวก่อนเล่นนั้น แนะนำให้ผู้สูงอายุวอร์มอัพร่างกาย โดยการขยับหัวไหล่ขึ้น-ลง และขยับหัวข่า โดยสลับกับการวิ่งเหยาะๆ เป็นเวลา 15-30 นาทีก่อนเล่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ระบบภายในต่างๆ ของร่างกายตื่นตัว ระบบประสาทมีความฉับไวในการรับคำสั่งจากสมอง ไม่เกิดอาการเฉื่อยชา ระบบการหายใจทำงานได้สะดวก หัวใจสูบฉีดโลหิตได้ดี ปอดมีการขยายตัว นอกจากนั้นยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายยืดหยุ่น แข็งแรง ทนทาน พร้อมที่จะเริ่มต้นเล่นเปตองได้ดี
ส่วนข้อจำกัดในการเล่นกีฬาเปตอง สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากกีฬาชนิดนี้จะสร้างสมาธิให้ผู้เล่นค่อนข้างสูง จากการกะระยะและคาดคะเนในการโยนลูก เมื่อผู้เล่นเกิดสมาธิก็จะช่วยควบคุมอาการตื่นเต้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคดังกล่าวจึงสามารถเล่นได้ ที่สำคัญระยะเวลาในการเล่นซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง ถือเป็นการออกกำลังที่ไม่หักโหมจนเกินไปสำหรับผู้สูงวัย และหากคุณยายเล่นกีฬาชนิดนี้ได้บ่อยขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อสุขภาพมากเท่านั้น เพราะได้ทั้งการฝึกสมองและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว แวดวงกีฬา เทรนใหม่ๆ ได้ที่ bloggingauthors.com
|