ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า
ในวันที่ 27 มกราคม 2566 ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จะลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU)
กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และบริษัท สุพรรณ กรีนเทค จำกัด เรื่อง การส่งเสริมและดำเนินการปลูก วิจัย พัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ นำเข้า ส่งออก
จำหน่ายมีไว้ในครอบครอง และใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์และสุขภาพ โดยมีสาระสำคัญคือทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมมือกันในการศึกษา วิจัย
และพัฒนาโครงการวิจัยเกี่ยวกับกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งจะร่วมกันส่งเสริมและดำเนินการปลูก วิจัย พัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์
นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง และใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ เชิงพาณิชย์ การศึกษา
และด้านอื่นๆ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะร่วมมือกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการจากกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์และสุขภาพ,
เสริมสร้างการรับรู้ และองค์ความรู้ที่ถูกต้องในกระบวนการปลูก สายพันธุ์ กัญชา กัญชงและพืชสมุนไพร เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และการแพทย์ และร่วมมือในการดำเนินกิจการด้านอื่นๆ เกี่ยวกับกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์
ผศ.ดร.ลินดากล่าวต่อว่า ส่วนขอบเขตความรับผิดชอบและบทบาทของการทำงานคือคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มบส.จะดำเนินการเพื่อขอรับใบอนุญาตปลูก สกัดสารสำคัญ นำเข้า
ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองสำหรับกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร, สนับสนุนสถานที่ปลูกกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร บนที่ดินของมหาวิทยาลัย ณ ศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี จ.สุพรรณบุรี, สนับสนุนบุคลากรร่วมวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ด้านปัจจัยการผลิตที่ยกระดับคุณภาพผลิตผลจากการปลูกกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร ทางการแพทย์และสุขภาพ, สนับสนุนงานด้านวิชาการ องค์ความรู้เพื่อเป็นคู่มือการผลิตที่มีคุณภาพ, ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร ทางการแพทย์และสุขภาพ การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการบริหารจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเพื่อนำไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุด และสนับสนุนอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการในการปลูกและสกัดสารต่างๆ เพื่อวิจัยพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์
ผศ.ดร.ลินดากล่าวอีกว่า ขณะที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และบริษัท สุพรรณ กรีนเทค จำกัด จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาพันธุ์กัญชา กัญชง
และพืชสมุนไพร และวัสดุปลูก รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆ, จัดสร้างโรงเรือนและอาคารส่วนประกอบในการปลูกกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร, สนับสนุนประสานงานบุคลากรและเครือข่ายที่เอื้อประโยชน์ให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ, ส่งผลผลิตให้แก่มหาวิทยาลัยในการสกัดสารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร โดยมีค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกับมหาวิทยาลัย, สนับสนุนผลผลิตกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร ตามที่ตกลงกับมหาวิทยาลัยในแต่ละประเภท แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการศึกษา วิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาการปลูกเชิงพาณิชย์ และวัตถุประสงค์ทางวิชาการอื่นๆ, สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญภายนอกเพื่องานด้านวิชาการและการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ หรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง, สนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเชิงพาณิชย์ และเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชนหรือสาธารณชน ได้รับทราบประโยชน์ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
https://have-a-look.net/2023/01/19/%e0%b8%a1%e0%b8%9a%e0%b8%aa-%e0%b8%aa%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a1-%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%a2-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%8a%e0%b8%b2/
|