นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า
ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ฉบับที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษา
แห่งชาติ ที่กำลังพิจารณาทบทวนประเด็นต่าง ๆ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นตรงกันว่า โดยหลักการร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้
จะมุ่งไปสู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียน แต่ยังมีข้อห่วงใย เรื่องนิยามที่ไม่ครอบคลุมตำแหน่งของแต่ละหน่วยงาน เหมือนพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับที่ผ่านมา ที่ระบุชัดเจน ว่า ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน
และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) คือใคร มีหน้าที่อย่างไร และเห็นว่าหากขาดนิยามในส่วนนี้ไปก็เกรงว่า กฎหมายจะขาดความสมบูรณ์
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังมีข้อกังวล ถึงหน่วยงานที่เกิดขึ้นตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งต่อมาได้มีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ อาทิ กรณีที่ในกฎหมายกำหนดให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล
ทั้งที่บางแห่งยังมีครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เพียงพอ จะดำเนินการอย่างไร รวมไปถึงประเด็นเรื่องให้กรรมการสถานศึกษา เป็นผู้พิจารณารับย้ายหรือเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนเอง
ในอนาคตจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่
“ส่วนใหญ่เป็นข้อห่วงใยรายละเอียดในทางปฏิบัติ ซึ่งทางสกศ.ก็รับฟังข้อมูล
เพื่อเสนอให้กมธ.วิสามัญฯ นำไปประกอบการพิจรณา ทั้งนี้ในที่ประชุมผมได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน ในเชิงหลักการเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ที่ต้องให้โรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติ
ส่วนกลางเป็นหน่วยส่งเสริมสนับสนุน แต่สิ่งที่กังวลคือ เวลาออกแบบโครงสร้างใหม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรตามโครงสร้างเดิมหรือไม่ หากยังไม่พร้อม มีกฎหมายใดที่จะรองรับ
เพื่อให้การดำเนินการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ” นายอัมพร กล่าว
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการสรรหาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นประธาน เห็นชอบหลักเกณฑ์องค์ประกอบอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเพื่อให้สพฐ. และเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลตามองค์ประกอบ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 19/2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อได้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เรียบร้อยแล้ว จะเร่งดำเนินการสรรหาผู้เหมาะสมแทนตำแหน่งว่างที่ค้างอยู่ ทั้งครูผู้ช่วย ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ต้นปี 2566
https://have-a-look.net/2022/12/05/%e0%b8%9e-%e0%b8%a3-%e0%b8%9a-%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a8%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b2%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%88-%e0%b8%aa%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b8%b8%e0%b8%94-%e0%b8%ab/
|