"เมื่อฤดูกาลที่แล้วเกมรับของ แมนฯ ซิตี้ ก็ยังถือว่ามีจุดอ่อนเหมือนกัน เพียงแต่ปรัชญาลูกหนังของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า คือการครองบอล คุณพี่เขาเน้นการครองบอลเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าคิดง่ายๆ ตามหลักคณิตศาสตร์ว่าถ้าคุณครองบอลได้ถึง 70% นั่นหมายความว่าคู่แข่งจะได้ครองบอลแค่ 30% เท่านั้น - แล้วยังต้องไปหาโอกาสทำประตูจาก 30% ที่ตัวเองได้ครองบอลนั่นแหละ
ในสายตาของผม ""เป๊ป"" จัดเป็นกุนซือที่สติเฟื่องคนหนึ่งของวงการ เขาจะพยายามค้นคิดพลางหาวิธีการเล่นแบบใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนารูปแบบการเล่นของทีมตัวเองให้ล้ำยุคตลอดเวลา
เราจะเห็นว่าฤดูกาลนี้ พี่แกใช้ผู้รักษาประตูเป็นส่วนหนึ่งในปรัชญาการเล่นของตัวเองด้วย
เอแดร์ซ่อน ถูกสั่งให้ออกมายืนสูงอยู่นอกกรอบ ประหนึ่งเป็นกองหลังหรือผู้เล่นอีกหนึ่งคนในสนาม คล้ายๆ วิธีการเล่นแบบ ""เพาเวอร์เพลย์"" ในบอลโต๊ะเล็กอย่าง ""ฟุตซอล"" นั่นแหละ
จุดประสงค์เพื่อให้มีผู้เล่นประเภท ""เอาต์ฟิลด์"" เพิ่มขึ้นอีก 1 คนในสนาม
เมื่อมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน กองหลังก็สามารถขยับขึ้นไปเล่นในแดนกลาง เท่ากับว่าทีมคุณจะมีกองกลางมากกว่าคู่แข่งอีก 1 คน
ผู้เล่นมากกว่าก็ย่อมครองบอลได้มากกว่า
เช่นเดียวกับการเอา ""มิดฟิลด์ตัวรับ"" ลงมาเล่นเป็น ""เซ็นเตอร์แบ็ค""
ย้อนกลับไปในเกมที่บุกเชือด คริสตัล พาเลซ ถึงถิ่น กุนซือวัย 48 กะรัตผู้นี้ใช้มิดฟิลด์ตัวรับอย่าง แฟร์นานดินโญ่ กับ โรดรี้ เล่นเป็นเซ็นเตอร์แบ็คคู่กันทั้งๆ ที่ จอห์น สโตนส์ หายเจ็บกลับมาแล้ว
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือเขาไม่ไว้ใจผู้เล่นในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็คจริงๆ ที่ตัวเองมีอยู่ และอีกประการหนึ่งคือต้องการใช้มิดฟิลด์ในคราบกองหลังนี่แหละเป็นคนเซ็ตเกมขึ้นมาจากแดนหลัง
จัดเป็นวิธีการที่ ""อินดี้"" สุดๆ จนต้องอุทานในใจเป็นภาษาโดธราคีว่า ""***คิดได้ไงครับเนี่ย?""
การเอามิดฟิลด์ไปเล่นเป็นกองหลังช่วยให้ แมนฯ ซิตี้ ขึ้นเกมพลางครองบอลได้ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดอ่อน เพราะมิดฟิลด์อย่างไรก็คงเล่นเกมป้องกันสู้กองหลังอาชีพจริงๆ ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม
สังเกตได้ว่า แฟร์นานดินโญ่ สวมบทเซ็นเตอร์แบ็คได้ไม่เลวเลยทีเดียว ช่วยเซฟจังหวะสำคัญๆ ให้ทีมได้ตลอด แม้บางจังหวะจะออกลูกเฟอะฟะบ้างก็ตาม
อย่างน้อยก็ดูจะไว้เนื้อเชื่อใจได้มากกว่าทั้ง จอห์น สโตนส์ และ นิโกลัส โอตาเมนดี้"
|