ปี พ.ศ. 2564 หรือ ค.ศ. 2021 ถือเป็นอีกหนึ่งขวบปีที่โลกมนุษย์ของเรายังสลัดและกำจัดเจ้าไวรัสร้ายโควิด-19 ได้ไม่สิ้นซากและหมดไปสักที โดยวงการกีฬาไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกันกับการระบาดของโควิด-19 โดยกิจกรรมและการแข่งขันต่างมีอันต้องถูกเลื่อน ที่หนักหน่อยก็โดนยกเลิกไปเลย
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมและการแข่งขันต่างๆหาวิธีรับมือโควิด-19 พร้อมกับรีสตาร์ทตัวเองเพื่อให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ ซึ่งก็ทำให้ในตลอดปี 2564 มีหลากหลายเรื่องราวทั้งที่น่าชื่นชมยินดีและน่าเศร้าเกิดขึ้นกับวงการกีฬาไทย ในโอกาสนี้ทีมงานสยามกีฬา ขอสรุปรวบรวมข่าวเด่นประเด็นดังในรอบปี 2564 ให้ดูกันอีกครั้ง โดยหากไม่นับเรื่องราวในวงการหมัดมวยและลูกหนัง มาดูว่ามีเรื่องเด่น เรื่องเด็ด อะไรบ้าง
"พาณิภัค" สร้างประวัติศาสตร์ คว้าเหรียญทองเทควันโดโอลิมปิก
พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้ชื่อว่าเป็นจอมเตะที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของวงการเทควันโดโลก จากผลงานสุดไร้เทียมทาน ไร้พ่ายอย่างยาวนานกว่า 3 ปี ซึ่งการปราชัยให้หนสุดท้ายของ "เทนนิส" คือการพ่ายให้ กับ คิม โซ ฮุย คู่ปรับจากเกาหลีใต้ 8-10 ในศึกเทควันโดเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ไฟนัลส์ เมื่อ 23 พ.ย.ปี 2018
ดังนั้นการลุยโอลิมปิกเกมส์ 2020 + (1) ที่้ญี่ปุ่น ของ พาณิภัค นับเป็นการแบกความหวังของคนทั้งชาติ และตัวเองที่อยากจะแก้มือหลังผิดหวังได้เพียงเหรียญทองแดง รุ่น 49 กก.หญิง เมื่อปี 2016 ที่บราซิล
เส้นทางสู่ฝันของ พาณิภัค ในโอลิมปิก เหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เจ้าตัวปราบคู่แข่งอิสราเอลขาดลอย 29-5 ในแมตช์แรก ก่อนอัดเวียดนาม 20-11 และสอนเชิงนักเทควันโดเจ้าภาพ 34-12 ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ อาเดรียนา อิเกลเซียส เซเรโซ ดาวรุ่งวัย 18 มือ 20 ของโลกจากสเปน
แมตช์นี้จอมเตะม้ามืดสร้างเซอร์ไพรส์ และเป็นฝ่ายนับถอยหลังที่จะได้ขึ้นไปยืนบนโพเดี้ยม รับเหรียญทองโอลิมปิกอยู่ร่อมร่อแล้ว หลังนำ 10-9 เมื่อเข้าสู่ 10 วินาทีสุดท้ายของยกที่ 3
ทว่าด้วยประสบการณ์ และหัวจิตหัวใจนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ทำให้ พาณิภัค พลิกทำ 2 คะแนนในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย กลับมาชนะดาวรุ่งจากสเปนไป 11-10 คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้กับตัวเอง และเหรียญทองเดียวกับประเทศไทยในโอลิมปิกเกมส์ 2020
2021 ปีทอง "บาส-ปอป้อ" หยิบแชมป์โลก ผงาดมือ 1 คู่ผสม
หากไม่นับความผิดหวังที่ "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ "ป้อป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย พลาดท่า ร่วงตกรอบก่อนรองชนะเลิศ จนชวดเหรียญรางวัล แบดมินตันคู่ผสมในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งคู่ทำผลงานได้อย่างไฉไล และสร้าง "2021" เป็นปีทองขึ้นมา
"บาส-ปอป้อ" เปิดฉากปีปฏิทิน 2021 ด้วยการกวาดแชมป์ 3 ทัวร์นาเมนต์ยักษ์ในไทย ก่อนที่ปลายปี 2021 ทั้งในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. จะติดเครื่องกวาดแชมป์แบบ 5 รายการติดๆ ไล่ตั้งแต่แชมป์ ฮายโล โอเพ่น 2021 ที่เยอรมัน, อินโดนีเซีย มาสเตอร์ส 2021 ต่อด้วย อินโดนีเซีย โอเพ่น 2021 กับ เวิล์ดทัวร์ ไฟนัลส์ 2021 ที่อินโดนีเซีย (ป้องกันแชมป์ 2 สมัยติด) ก่อนปิดท้าย สร้างประวัติศาสตร์ หยิบแชมป์โลก 2021 ที่สเปน
แชมป์โลก 2021 ยังนับเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ของประเทศไทย หลัง "เมย์" รัชนก อินทนนท์ เคยทำสำเร็จในประเภทหญิงเดี่ยว เมื่อปี 2013 ที่จีน ขณะเดียวกันทำให้ในการลงเล่นร่วมกัน 11 ทัวร์นาเมนต์ ทั้งคู่มีสถิติที่โหดสุดๆ เพราะกวาดไปถึง 8 แชมป์ กับอีก 1 รองแชมป์ ซึ่งในการทำสถิติคว้าแชมป์ 5 ทัวร์นาเมนต์ติดต่อกัน ยังเป็นการสร้างสถิติไร้พ่าย 25 แมตช์ ซึ่งก็โอกาสที่ทั้งคู่จะสานต่อตัวเลขดังกล่าวในปี 2022 ด้วย
นอกจากนี้สถิติตลอดทั้งปีรวมกัน 54 แมตช์ เอาชนะคู่แข่งขันได้ถึง 49 แมตช์ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ชนะสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และยังกวาดเงินรางวัลรวมจาก 11 รายการที่ลงเล่นร่วมกันมากกว่า 22 ล้านบาท นับว่ามากที่สุดตั้งแต่ลงเล่นร่วมกันมา พร้อมกับปิดฉากฤดูกาล 2021 ได้อย่างหมดจดงดงาม ด้วยการครองบัลลังก์มือ 1 ของโลกในประเภทคู่ผสม
"สุดาพร" ผู้กู้วิกฤตกำปั้นไทย นักชกหญิงคนแรกหยิบเหรียญอลป.
การไร้ซึ่งเหรียญรางวัลของทีมมวยสากลสมัครเล่นไทย ในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่บราซิล ถือเป็นการไร้เหรียญรางวัลในรอบ 40 ปี ของทีมกำปั้นไทย ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นการเดินทางหน้าเข้าสู่ยุคมืดของไทยอย่างแท้จริงก็ว่าได้
ทีมกำปั้นไทยคว้าเหรียญติดมือในโอลิมปิกเกมส์มาตลอด ตั้งแต่ครั้งแรกปี 1976 ไม่นับปี 1980 ซึ่งไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วม ทำให้ในการแข่งขันโตเกียว 2020 คือ ไฟต์บังคับที่เหล่านักชกไทยทั้งชายและหญิงจำเป็นต้องกู้ศรัทธาคืนมา
น่าเสียดายโอลิมปิกรอบนี้ "แต้ว" สุดาพร สีสอนดี หนึ่งในความหวังของทีมกำปั้นไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน หลังพ่าย เคลลี แอนน์ แฮร์ริงตัน แชมป์โลกและเต็งหนึ่งของรุ่นจากไอร์แลนด์เหนือไปอย่างหวุดหวิด 2-3 เสียง ในรอบตัดเชือก รุ่นไลท์เวต น้ำหนักไม่เกิน 60 กก.หญิง ทำให้ได้เพียงเหรียญทองแดง
อย่างไรก็ตามเจ้าตัวยังได้ชื่อว่าเป็น "นารีขี่ม้าขาว" ที่เข้ามากอบกู้วิกฤตและศรัทธาของทีมกำปั้นไทย ที่ห่างเหินความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์มาถึง 9 ปีลงได้ อีกทั้งเจ้าตัวยังเป็นชกหญิงคนแรกในประวัติศาสตรฺที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกให้ทีมกำปั้นไทย
ขณะเดียวกัน เหรียญดังกล่าวยังนับเป็นเหรียญรางวัลที่ 15 ของทีมมวยสากลสมัครเล่นไทย และนับเป็นเหรียญที่ 35 ของทัพนักกีฬาไทยในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ด้วย พร้อมกับทำให้ทัพไทย จบด้วยผลงาน 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง จบอันดับที่ 59 ในตารางเหรียญรางวัลรวม
ไทยกวาด 5 ทองพาราลิมปิก "พงศกร แปยอ" พระเอกของทีม
หลังจบกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เป็นคิวของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับนักกีฬาคนพิการ ซึ่งก็ต้องบอกว่าครั้งนี้ ทัพนักกีฬาคนพิการไทย ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมและไร้เทียมทานสุดๆอีกคร้้งหนึ่ง เมื่อจัดการกวาดรวม 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง พร้อมกับจบอันดับที่ 24 ของตารางเหรียญรางวัลรวม ดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย เป็นรองแค่ จีน, ญี่ปุ่น, อิหร่าน, อุซเบกิสถาน และอินเดีย เท่านั้น
หนนี้ทัพนักกีฬาคนพิการของไทยคว้าเหรียญรางวัลรวมสูงสุดอีกครั้งที่จำนวน 18 เหรียญ เทียบเท่าผลงานเมื่อปี 2016 ที่บราซิล ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานของนักกีฬาคนพิการไทยในเกมมหกรรมระดับนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าไม่ได้ตกลงไปเลย ถึงแม้จะห่างหายและร้างสนามแข่งขันไปนานมาก จากสถานการณ์โควิด-19
วีลแชร์เรซซิ่งยังเป็นกีฬาที่หวังได้ของทีมพาราลิมปิกไทย หนนี้คว้ารวม 4 ทอง 2 เงิน 3 ทองแดง ใกล้เคียงกับการแข่งขันเมื่อปี 2016 ที่ทำได้มากสุด หนนั้นคว้า 4 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ส่วนพระเอกของทีมในครั้งนี้ คือ "เจ้ากร" พงศกร แปยอ ที่เหมาคนเดียว 3 เหรียญทอง จากวีลแชร์เรซซิ่ง คลาส ที 53 ระยะ 100, 400 และ 800 ม. กวาดเงินรางวัลความสำเร็จจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 21,600,000 บาท และหากนับรวมกับเงินรางวัลที่ทำได้จากการคว้า 2 เหรียญทอง 2 เหรียญทองแดง ในศึกพาราลิมปิกเกมส์ ปี 2016 เจ้าตัวโกยเงินอัดฉีดไปมากถึง 45,600,000 บาท
การแข่งขันครั้งนี้ยังนับเป็นการแจ้งเกิดของเหล่าดาวรุ่ง นักกีฬาคนพิการสายเลือดใหม่หลายคน อาทิ อธิวัฒน์ แพงเหนือ ดาวรุ่งวัย 18 ที่คว้า 1 เหรียญทอง จากวีลแชร์เรซซิ่ง 100 ม.คลาส ที 54 และ 1 เหรียญเงิน ในระยะ 400 ม. คลาส ที 54 รวมไปถึง "น้องขวัญ" ขวัญสุดา พวงกิจจา ที่ได้เหรียญทองแดง เทควันโด รุ่น 49 กก.หญิง และ ภูธเรศ คงรักษ์ ที่คว้า 2 เหรียญทองแดง จากวีลแชร์เรซซิ่ง ระยะ 1,500 และ 5,000 ม.คลาส ที 54
ด้าน ประวัติ วะโฮรัมย์ ตำนานนักกีฬาคนพิการไทย แม้จะพลาดคว้าเหรียญทองในศึกพาราลิมปิกเกมส์รอบนี้ไป แต่การคว้าเพิ่ม 1 เหรียญเงิน จากวีลแชร์เรซซิ่งระยะ 1,500 ม. คลาส ที 54 ยังทำให้เจ้าตัวขยับสถิติคว้าเหรียญรางวัลในศึกพาราลิมปิกเกมส์ขึ้นไปเป็น 16 เหรียญ แบ่งเป็น 7 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ซึ่งก็นับว่ามากที่สุดตลอดกาลของเมืองไทยด้วย
"โปรเหมียว-โปรจีน" กระหึ่มโชว์ผลงานเขย่าวงการก้านเหล็กโลก
หากให้เลือกนักกอล์ฟไทยที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมบนปีปฏิทินการแข่งขัน 2021 ชื่อของ "โปรจีน" อาฒยา ฐิติกุล สาวน้อยวัย 18 ที่เพิ่งลงแข่งขันเลดีส์ ยูโรเปี้ยน ทัวร์ แบบเต็มตัวเป็นปีแรก และ "โปรเหมียว" หรือ "แพ็ตตี้" ปภังกร ธวัชธนกิจ ที่แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในแอลพีจีเอ ทัวร์ ติดโผเข้ามาอย่างไม่ต้องมีใครสงสัย
ผลงานของงานของสาวน้อยมหัศจรรย์ อาฒยา ฐิติกุล ในเกมระดับเลดีส์ ยูโรเปี้ยน ทัวร์ 2021 ซึ่งเป็นขวบปีแรกของเจ้าตัว ยอดเยี่ยมมากๆ โดย "โปรจีน" สตาร์ทด้วยอันดับโลก 275 แต่จบปีด้วยก้าวกระโดดขึ้นมารั้งมือ 19 ของโลก
ในปี 2021 "น้องจีน" หยิบแชมป์ 2 รายการ ติดท็อปเทนอีก 13 รายการ ควบด้วย 3 รางวัลยอดเยี่ยมในเลดีส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ ทั้งผู้เล่นมือ 1 ของทัวร์, ดาวรุ่งยอดเยี่ยม และนักกอล์ฟยอดเยี่ยม ก่อนปิดท้ายปีด้วยการซิวตั๋วไปเล่นแอลพีจีเอ ทัวร์ ซึ่งนั่นก็ทำให้แฟนๆกีฬาไทย จะได้ลุ้นตามลุ้นและเชียร์ผลงานของ "น้องจีน" ในเกมระดับที่ยากและท้าทายขึ้น ในแอลพีจีเอ ทัวร์ 2022 ด้วย
ในปี 2021 ชื่อของ "โปรเหมียว" ยังกลายเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาชาวไทย หลังสร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์เมเจอร์รายการใหญ่ เอเอ็นเออินสปิเรชั่น 2021 ซึ่งก็นับเป็นนักกอล์ฟหญิงไทยคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์เท่านั้น ที่คว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ได้สำเร็จ ต่อจาก "โปรเม" เอรียา จุฑานุ
ตลอดทั้งปี "โปรเหมียว" ยังพัฒนาและยกระดับฟอร์มการเล่นของตนเอง จนก้าวมารั้งมือ 13 ของโลกในประเภทหญิง ซึ่งก็นับเป็นโปรสาวไทยที่มีอันดับโลกดีที่สุดในปี 2021 พร้อมกับผงาดรางวัลใหญ่ของแอลพีจีเอทัวร์ ทั้ง ดาวรุ่งยอดเยี่ยม และนักกอล์ฟที่ผลงานในรายการระดับเมเจอร์ดีที่สุดด้วย
ปิดฉากตำนาน 7 เซียนถึงเวลาอำลาวงการลูกยางไทย
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา เช่นกันกับ 7 เซียนลูกยางไทย "หน่อง" ปลื้มจิตร์ ถินขาว, "ซาร่า" นุศรา ต้อมคำ, "อร" อรอุมา สิทธิรักษ์, "แจ๊ค" อำพร หญ้าผา, "ปู" มลิกา กันทอง, "กิ๊ฟ" วิลาวัณย์ อภิญาพงศ์ และ "นา" วรรณา บัวแก้ว ซึ่งอยู่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา โดยสร้างชื่อเสียง ความสำเร็จ และความสุขให้กับประเทศชาติและแฟนกีฬาไทยมาอย่างยาวนานนับ 20 ปี ซึ่งศึกเนชั่นส์ ลีก 2021 ที่อิตาลี ก็กลายเป็นทัวร์นาเมนต์ สุดท้ายของผู้เล่นกลุ่มนี้ด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้เล่น 7 เซียน ในยุคของ "โค้ชอ๊อต" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร คือกลุ่มผู้เล่นที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด จนกลายมาเป็น "ดรีมทีม" ของวงการวอลเลย์บอลไทย ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคว้าแชมป์เอเชียนคัพ 1 หน, แชมป์เอเชีย อีก 3 สมัย, แชมป์ซีเกมส์ 7 สมัย และรายการเวทีระดับนานาชาติอีกมากมาย ยังเป็นการจุดประกายและบูมกระแสลูกยางในเมืองไทยให้ฟีเวอร์แบบสุดๆ
เพื่อเป็นเกียรติให้กับ 7 เซียนของการ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กับสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ยังจัดแมตช์อำลา 7 เซียนระดับตำนาน ในงาน "7 Legends of Volleyball" เพื่อขอบคุณนักกีฬาวอลเลย์บอลสาวไทยทั้ง 7 คน เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2021 ด้วย ซึ่งก็ทำทั้งบรรดานักกีฬาทั้ง 7 คน รวมถึงแฟนๆที่อยู่ในสนามเองถึงกับน้ำตาแตก อดที่ร่ำไห้กับวันที่จะไม่เห็นพวกเธอทั้ง 7 ในสีเสื้อทีมชาติไทยไม่ได้แล้วเหมือนกัน
ทั้งนี้ ทัดดาว นึกแจ้ง, หัตถยา บํารุงสุข, ชัชชุอร โมกศรี, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, ปิยะนุช แป้นน้อย และ อัจฉราพร คงยศ คือกลุ่มผู้เล่นที่เหล่า 7 เซียนมองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลัก และดีพอที่จะสานภารกิจสำคัญพาทีมชาติไทยไปโลดแล่นในเวทีโอลิมปิกเกมส์ได้สักที
ผจก.ทีมดังเอี่ยวเล่นพนัน-ล็อคผล เรื่้องสุดฉาววงการบาสเกตบอลไทย
หนึ่งเรื่้องอื้อฉาวที่สุดของวงการกีฬาไทยในปี 2564 หรือ 2021 หนีไม่พ้นเรื่องราวของการล็อคผลการแข่งขันการแข่งขันบาสเกตบอลไทยแลนด์ลีก หรือ ทีบีแอล 2021 ซึ่งในเคสนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันออกมาทำหนังสือแจ้งบทลงโทษอย่างเป็นทางการกับ นายพิพัฒน์ กีร์ตะเมคินทร์ ผู้จัดการทีมดัง อย่างทีม สโมสรไฮ-เทคบาสเกตบอลคลับ
เรื่องฉาวโฉ่เกิดขึ้น หลังมีภาพหลุดว่า เจ้าตัวเปิดเว็บพนันระหว่างที่ตนเองกำลังทำหน้าที่นั่งคุมทีมของตัวเองอยู่ข้างสนาม ซึ่งหลังภาพดังกล่าวปรากฎออกมา มีการพูดถึงกันอย่างถึงพริกถึงขิงในโลกออนไลน์ ถึงประเด็นเรื่องการพนัน ที่เจ้าตัวอาจมีส่วนรู้เห็นเรื่องล็อคผลการแข่งขันในเกมที่ตัวเองคุมทีมลงทำการแข่งขันด้วย
ภายหลังเกิดเรื่อง ฝ่ายจัดฯได้อ้างระเบียบของการแข่งขัน พร้อมสั่งห้ามเจ้าตัวยุ่งเกี่ยวและทำหน้าใดๆจนจบการแข่งขัน แม้เจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธว่าภาพดังกล่าวที่หลุดออกมา เป็นแค่การเปิดเช็คผลการแข่งขันเท่านั้น ทว่าทั้งฝ่ายจัดการแข่งขัน รวมถึง การกีฬาแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ปล่อยผ่านไม่ได้ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงทันที
แม้ยังไม่มีบทสรุปชัดเจนตามออกมา แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการกีฬาไทยในวงการกีฬาไทยแต่อย่างใด ซึ่งก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กกท.จะเข้มงวดกวดขัน และมีบทลงโทษที่ชัดเจน เพื่อจัดการเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นมะเร็งร้าย ที่จะก่อให้เกิดผลเสียในวงการกีฬาไทยอีกมากมายขึ้น
"วาด้า" ลงดาบไทย สั่งแบน 1 ปี ห้ามใช้ธงชาติ-เป็นเจ้าภาพกีฬา
เรื่องที่เป็นประเด็นให้กล่าวถึง ชนิดที่นับว่าช็อคความรู้สึกของแฟนๆกีฬาไทยมากที่สุดในปี 2564 หรือปี 2021 คือ การที่ประเทศไทย ถูกองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ "วาด้า" สั่งแบน 1 ปี หลังไม่สามารถปรับแก้กฎเกณฑ์ให้ตรงกับที่ "วาด้า" ทำการอัพเดท ได้ตามเส้นตายที่กำหนด โดยโทษแบนที่เป็นประเด็นหลักๆ ทำให้ไทยถูกห้ามใช้หรือแสดงธงชาติไทยในการแข่งขันบนเวทีระดับนานาชาติ รวมถึงห้ามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2021
ผลจากการโดนแบน ทำให้นักกีฬาไทยไม่สามารถแสดงสัญลักษณ์และใช้ธงชาติไทยเมื่อขึ้นโพเดี้ยมรับเหรียญรางวัลได้ อาทิ ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2021 ที่อุซเบกิสถาน ซึ่งจอมพลังไทยคว้าเหรียญทองได้ แต่ต้องใช้ธงคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย หรือกระทั่งตอนที่ "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ซึ่งคว้าแชมป์โลกคู่ผสม 2021 ที่สเปนได้ แต่กลับต้องใช้ธงของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยแทนในการอัญเชิญขึ้นสู่ยอดเสา
การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ยังชี้แจงด้วยว่า บางข้อในกฏบัตรของวาด้า หากต้องปรับแก้ในพ.ร.บ.กีฬาของไทย อาจขัดต่อกฎหมาย อาทิ การเข้าให้อำนาจตรวจสอบในสถานที่ใดก็ได้ยามวิกาล โดยไม่ต้องบอกแจ้งนักกีฬา หรือสมาคมกีฬารับทราบ นั่นทำให้การปรับแก้นั่นยิ่งต้องมีความละเอียด และด้วยระบบการแก้ไขกฎหมายของไทยที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงต้องใช้เวลานาน ทำให้ไทยไม่สามารถปรับแก้ร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดเวลาที่วาด้ากำหนด
เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของวงการกีฬาไทยอย่างแท้จริง โดยเรื่องนี้ถูกยกให้เป็นวาระเร่งด่วนของชาติ ซึ่งแนวโน้มของเรื่องนี้ดูท่าจะคลี่คลายไปในทิศทางบวก หลังคณะรัฐมนตรีไฟเขียวการรับรอง ร่างดังกล่าวที่กกท.กับสำนักงานกฤษฏีกาปรับแก้ให้สอดรับกับกฏเกณฑ์ของวาด้าออกมาเป็น ร่างพ.ร.ก.แล้ว และล่าสุดราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา เมื่อ 29 ธ.ค.64 ทำให้ไทยปลดล็อคกลับมาจัดกีฬาระดับนานาชาติได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และหากเป็นไปตามแผน ไทยจะสามารถขออนุญาตให้ "วาด้า" ปลดล็อคกลับมาใช้ธงชาติไทยได้ในเกมระดับนานาชาติได้อย่างเร็วที่สุดก็คือปลายเดือนม.ค.2022 ซึ่งก็ทันศึกซีเกมส์ ที่เวียดนาม ในเดือนพ.ค., เอเชียนเกมส์ ที่จีน ในเดือนก.ย.
สนับสนุนโดยเว็บไซต์ Ufabet
|