ระวัง! “คางทูม” ระบาดในหมู่ทหาร-นักเรียน เตือนพ่อแม่-ร.ร. ฉีดวัคซีน
S! Health (Rewrite)
สนับสนุนเนื้อหา
เตือน "โรคคางทูม" อาจระบาดเป็นกลุ่มก้อน หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาพบระบาดในค่ายทหารและ ร.ร. เผยทั้งปีป่วยแล้ว 1,466 ราย นร.ป่วยมากสุด พบมากสุดที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน แนะพ่อแม่พาไปฉีดวัคซีนป้องกัน
ครึ่งปี พบคนไทยป่วย “คางทูม” เกือบ 1,500 คน
กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. 2562 ให้ระวังโรคคางทูม โดยระบุว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคคางทูมในประเทศไทย ปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 27 ก.ค. 2562 พบผู้ป่วยคางทูมแล้ว 1,466 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุด คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี และพบมากในกลุ่มนักเรียนร้อยละ 39.6 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ภูเก็ต และแม่ฮ่องสอน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบข่าวการระบาดจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ พบรายงานการระบาดของโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ คือ ในค่ายทหาร และในโรงเรียน ในช่วงนี้อาจพบผู้ป่วยโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อนได้ โดยเฉพาะในสถานที่มีคนอยู่อาศัยรวมกันหนาแน่น และพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ต่ำ
อาการของโรคคางทูม
โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย อาการของโรคคางทูมที่พบได้ มีดังนี้
มีไข้ต่ำๆ
ปวดเมื่อยตามตัว
มีอาการเจ็บบริเวณหน้าหูและขากรรไกร
มีต่อมน้ำลายข้างกกหูโตขึ้น
มีอาการเจ็บบริเวณแก้มและหู
การรักษาโรคคางทูม
ปัจจุบันการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ควรมีการแยกผู้ป่วยประมาณ 10 วันหลังจากเริ่มมีต่อมน้ำลายโต และควรหยุดไปโรงเรียนหรือหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
คางทูม ป้องกันง่ายๆ ด้วยวัคซีน
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนว่า วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเป็นรูปแบบวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กเล็กควรรับวัคซีนป้องกันโรค 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และให้ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ทางเข้า ufabet เว็บที่มีเกมส์เยอะที่สุด
|