“ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก” โรคฮิตหน้าฝน เด็กเล็กกลุ่มเสี่ยง
S! Health (Rewrite)
สนับสนุนเนื้อหา
เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ช่วงนี้ต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่อาจจะกลับมาระบาดระลอก 2 เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเป็นอย่างมาก
นอกจากเรายังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อร่วมลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด เรียกตามภาษาที่เข้าใจกันว่า “การ์ดอย่าตก” แล้ว อีกทางนึงก็อย่าประมาทกับโรคระบาดที่มักจะมาเยี่ยมเยียนตามฤดูกาลด้วย โรคที่ว่านี้คือ ไข้หวัดใหญ่ ที่มาจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา และ ไข้เลือดออก ที่มาจากการเพาะพันธุ์ของยุงลายตัวพาหะของโรค โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ทั้ง 2 โรคสามารถติดได้พร้อมกันอีกด้วย
ซึ่งในเรื่องนี้ แพทย์หญิงนลินรัตน์ รักแดง กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” จะมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับทั้ง 2 โรคนี้ เพื่อจะได้รู้เท่าทันและเฝ้าระวังเพื่อให้ห่างไกลจากโรคนี้กัน
“ไข้หวัดใหญ่” ศัตรูตัวฉกาจของลูกน้อย
โรคไข้หวัดใหญ่ จัดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) อาการของโรคคือ มีไข้สูง ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลียเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ เจ็บคอ คอแดง สามารถติดต่อกันได้จากการหายใจ ไอ และจาม โดยประเทศไทยนั้นมีสถิติการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างสูง มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า เพียง 5 เดือนแรกของปี 2563 นี้ มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เกือบ 100,000 ราย โดยเด็กอายุ 0-9 ปี นับว่ามีอัตราป่วยสูงสุด
ฉีดวัคซีน ช่วยความเสี่ยงการติดเชื้อ
แม้ว่าในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งสามารถลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้สูงสุดถึง 60% และลดความรุนแรงของอาการ การเกิดภาวะแทรกซ้อน โอกาสในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และการเสียชีวิตลงได้ นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ดังนั้น เราจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์อยู่เสมอ
“ไข้เลือดออก” ภัยร้ายหน้าฝน
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักจะไปวางไข่ในที่ๆ มีน้ำขังนิ่ง หากเราโดนยุงลายตัวร้ายที่มีเชื้อมากัดเข้า เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้มีอาการไข้เฉียบพลันและไข้สูงลอยเกินกว่า 2 วัน มีอาการอ่อนเพลีย อาจมีอาการผื่น หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย
แม้ว่าผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งมาแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน แต่หากได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างออกไปจากครั้งแรก ก็ยังสามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นเดิม และโดยทั่วไปอาการของโรคครั้งที่สองมักรุนแรงมากกว่าครั้งแรกอีกด้วย
เนื่องจากเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรระมัดระวังบุตรหลานและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบนำบุตรหลานเข้าพบแพทย์
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :แพทย์หญิงนลินรัตน์ รักแดง กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์”
ทางเข้า ufabet เว็บที่มีเกมส์เยอะที่สุด
|